การตอบสนองของอ้อยพันธุ์กำแพงแสนต่อปริมาณฝน ลักษณะเนื้อดิน และวันปลูก |Responses of Kampheang Sean Sugarcane Varieties to Amount of Rainfall, Soil Texture and Planting Date

Main Article Content

เอกจิต กิตติวรเชฏฐ์
เรวัต เลิศฤทัยโยธิน
อภิวิชญ์ ทรงกระสินธุ์

Abstract

            วิเคราะห์อิทธิพลของปัจจัยสภาพแวดล้อม ได้แก่ เนื้อดิน ปริมาณน้ำฝน และวันปลูก ต่อผลผลิตอ้อยจากแปลงเปรียบเทียบพันธุ์อ้อย ของศูนย์วิจัยและพัฒนาอ้อยและนํ้าตาล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในพื้นที่อาศัยนํ้าฝน จำนวน 8 แปลง แต่ละแปลงมีพันธุ์อ้อยทดสอบจำนวน 16 พันธุ์ และพันธุ์เปรียบเทียบจำนวน 4 พันธุ์ วางแผนการทดลองแบบ RCBD มี 4 ซํ้า วิเคราะห์ผลโดยการคำนวณการถดถอยเชิงเส้นตรง ทั้งนี้การถดถอยเชิงพหุ และคำนวณการประมาณนํ้าฝนโดยใช้โปรแกรม ANUDEM ผลการวิเคราะห์การถดถอยเชิงหุ พบว่าสภาพแวดล้อมมีผลต่อพันธุ์อ้อยทั้งหมดแตกต่างกัน โดยปริมาณน้ำฝนหลังปลูกช่วง 5-8 เดือนมีอิทธิพลทางบวก ต่อพันธุ์อ้อยจำนวน 15  พันธุ์ ส่วนเปอร์เซ็นต์ดินเหนียวมีอิทธิพลทางลบในพันธุ์อ้อย 14 พันธุ์ วันปลูกมีอิทธิพลทางบวกและทางลบ ต่อพันธุ์อ้อยจำนวน 9 พันธุ์ โดย 7 พันธุ์เป็นทางบวก และ 2 พันธุ์เป็นทางลบ และเปอร์เซ็นต์ดินทรายแป้งมีอิทธิพลทางบวกและทางลบต่อพันธุ์อ้อย 8 พันธุ์ โดย 7 พันธุ์เป็นทางบวก และ 1 พันธุ์เป็นทางลบ ความแตกต่างในการตอบสนองทางสภาพแวดล้อมดังกล่าวทำให้สามารถจัดกลุ่มพันธุ์อ้อยที่ศึกษาออกเป็น 6 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 จำนวน 5 พันธุ์ เป็นกลุ่มพันธุ์ที่ตอบสนองทางลบต่อ เปอร์เซ็นต์ดินเหนียว ตอบสนองทางบวกต่อน้ำฝนช่วง 5- 8 เดือน และวันปลูก กลุ่มที่ 2 จำนวน 3 พันธุ์ เป็นกลุ่มพันธุ์ที่ตอบสนองทางลบต่อเปอร์เซ็นต์ดินเหนียว และ ตอบสนองทางบวกต่อน้ำฝนช่วง 5- 8 เดือน กลุ่มที่ 3 จำนวน 3 พันธุ์ เป็นกลุ่มพันธุ์ที่ตอบสนองทางบวกต่อน้ำฝนช่วง 5- 8 เดือน กลุ่มที่ 4 จำนวน 3 พันธุ์ เป็นกลุ่มพันธุ์ที่ตอบสนองต่อเปอร์เซ็นต์ดินทรายแป้งในทางบวกและตอบสนองต่อเปอร์เซ็นต์ดินเหนียวในทางลบ กลุ่มที่ 5 จำนวน 2 พันธุ์ เป็นกลุ่มพันธุ์ที่ตอบสนองทางบวกต่อเปอร์เซ็นต์ดินทรายแป้งและปริมาณน้ำฝนช่วง 5-8 เดือน แต่ตอบสนองทางลบต่อเปอร์เซ็นต์ดินเหนียว กลุ่มที่ 6 จำนวน 2 พันธุ์ เป็นพันธุ์ที่ตอบสนองทางบวกต่อเปอร์เซ็นต์ดินทรายแป้ง แต่ตอบสนองทางลบต่อวันปลูก นอกจากนี้มีพันธุ์ที่ตอบสนองต่อปัจจัยต่างๆแตกต่างจากพันธุ์อื่น จำนวน 2 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์กำแพงแสน 01-1-12 ตอบสนองทางบวกต่อปริมาณน้ำฝนช่วง 5-8 เดือนและวันปลูก และ KK 3 ตอบสนองทางลบต่อเปอร์เซ็นต์ดินทรายแป้งและดินเหนียว และตอบสนองทางบวกต่อปริมาณน้ำฝนช่วง 5-8 เดือน และวันปลูก ทั้งนี้พบสมการการตอบสนองต่อปัจจัยของพันธุ์ KK 3 นี้มีค่าสูงสุดถึง 75.8%  นอกจากนี้พบว่าเปอร์เซ็นต์ดินทราย ปริมาณน้ำฝนช่วง 1-4 เดือนหลังปลูก และ ปริมาณน้ำฝนตั้งแต่ 9 เดือน มีความสัมพันธ์กับปัจจัยอื่นที่ศึกษา จึงได้ทำการวิเคราะห์การถดถอยเชิงเส้นตรงกับปัจจัยทั้ง 3 นี้ โดยพบว่า เปอร์เซ็นต์ดินทรายมีการมีผลเป็นทางลบต่อพันธุ์อ้อยเพียง 1พันธุ์ และปริมาณน้ำฝนช่วง 1-4 เดือนหลังปลูกมีผลเป็นทางลบต่อพันธุ์อ้อยจำนวน 7 พันธุ์ และปริมาณฝนช่วงหลังปลูกตั้งแต่ 9 เดือนมีผลเป็นทางบวกต่อพันธุ์อ้อยจำนวน 5 พันธุ์

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

Section
สาขาพืชศาสตร์ (Plant Sciences )