ผลของการจัดการดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมีต่อการเจริญเติบโต และผลผลิต ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พันธุ์สุวรรณ 4452 | Effects of Soil Management with Organic and Chemical Fertilizers on Growth and Yield of Field Corn cv. Suwan 4452

Main Article Content

บูรนา วงษาราม
อรุณศิริ กำลัง
จันทร์จรัส วีรสาร
รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์

Abstract

            งานวิจัยนี้ประกอบด้วย 2 การทดลอง  การทดลองที่ 1 กระทำในห้องปฏิบัติการ เพื่อศึกษาการปลดปล่อยปริมาณธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ของดินหมักร่วมกับมูลไก่อัตรา 0 กก.N/ไร่ (ควบคุม), 3.75 กก.N/ไร่ และ 7.5 กก.N/ไร่ ที่ระยะเวลา 0, 3, 5, 7, 14, 21, 28, และ 35 วัน ทำโดยหมักมูลไก่ (3.75 กก.N/ไร่ และ 7.5 กก.N/ไร่) ร่วมกับดิน 200 กรัมที่ระดับความชื้นความจุสนาม ผลการตรวจสอบ ปริมาณไนโตรเจนเป็นประโยชน์ ฟอสฟอรัสเป็นประโยชน์ และโพแทสเซียมแลกเปลี่ยนได้พบว่า ดินหมักร่วมกับมูลไก่อัตรา 7.5 กก.N/ไร่ มีปริมาณมากกว่าในดินหมักร่วมกับมูลไก่อัตรา 3.75 กก.N/ไร่ และมากกว่าตำรับควบคุม โดยปริมาณฟอสฟอรัสเป็นประโยชน์มีค่ามากที่สุดในวันที่ 0 ของการหมักและโพแทสเซียมแลกเปลี่ยนได้มีค่ามากที่สุดในวันที่ 3 ของการหมัก ในขณะที่ปริมาณไนโตรเจนเป็นประโยชน์จะปลดปล่อยช้าและมีค่ามากที่สุดในวันที่ 35 ของการหมัก  การทดลองที่ 2 กระทำในพื้นที่แปลงทดลองของภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร กำแพงแสน ซึ่งประเมินปริมาณไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมที่ใส่ตามค่าวิเคราะห์ดินและความต้องการของพืชได้เท่ากับ 15 กก.N/ไร่, 0 กก.P2O5 /ไร่ และ 5 กก.K2O/ไร่ เพื่อศึกษาผลของการจัดการดินด้วยวัสดุอินทรีย์ต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พันธุ์สุวรรณ 4452 ตลอดจนศึกษาการเปลี่ยนแปลงสมบัติของดิน วางแผนการทดลองแบบสุ่มโดยสมบูรณ์ภายในกลุ่ม (Randomized Complete Block Design ; RCRD) จำนวน 7 ตำรับการทดลอง กระทำ 3 ซ้ำ ดังนี้ ตำรับที่ 1 ไม่มีการจัดการ+ไม่ปลูกพืช ตำรับที่ 2 ตำรับควบคุม (ไม่ใส่ปุ๋ย) ตำรับที่ 3 ใส่ปุ๋ยเคมีอัตรา 15-0-5 ตำรับที่ 4 ใส่ปุ๋ยเคมีอัตรา 11.25-0-5 +มูลไก่ 3.75 กก.N/ไร่ ตำรับที่ 5 ใส่ปุ๋ยเคมีอัตรา 11.25-0-5 +มูลไก่ 3.75 กก.N/ไร่ +ปุ๋ยพืชสด ตำรับที่ 6 ใส่ปุ๋ยเคมีอัตรา 7.5-0-5 +มูลไก่ 7.5 กก.N/ไร่ และตำรับที่ 7 ใส่ปุ๋ยเคมีอัตรา 7.5-0-5 +มูลไก่ 7.5 กก.N/ไร่+ปุ๋ยพืชสด ผลการทดลองพบว่า ตำรับที่มีการใส่ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียวและกลุ่มตำรับที่มีการใส่ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์มีความสูงของต้นข้าวโพดสูงกว่าตำรับควบคุม ในส่วนของน้ำหนักแห้งของต้นข้าวโพดนั้นพบว่ากลุ่มตำรับที่มีการใส่ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์มีน้ำหนักแห้งมากกว่าตำรับปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียว และมากกว่าตำรับควบคุม  ตำรับการทดลองที่มีผลผลิตมากที่สุดคือตำรับที่มีการใส่ปุ๋ยเคมีอัตรา 11.25-0-5 + มูลไก่ 3.75 กก.N/ไร่ + ปุ๋ยพืชสด (T5) ซึ่งสอดคล้องกับประสิทธิภาพการให้ผลผลิตจากการใส่ปุ๋ยไนโตรเจน  ปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์และโพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ในดิน หลังเก็บเกี่ยวโดยเฉพาะที่ผิวดิน (0-15 ซม.) ของกลุ่มตำรับที่มีการใส่ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์มีค่ามากกว่าตำรับแปลงดินเปล่าซึ่งไม่ปลูกพืชและไม่มีการใส่ปุ๋ย

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

Section
สาขาพืชศาสตร์ (Plant Sciences )