การเปลี่ยนแปลงปริมาณโพรลีนของพันธุ์อ้อยในสภาพการขาดน้ำในโรงเรือน|Change in Proline Content of Sugarcane Varieties under Drought Condition in Nursery

Main Article Content

เกศรินทร์ แฉ่งวงศ์
เรวัต เลิศฤทัยโยธิน
ชัยณรงค์ รัตนกรีฑากุล

Abstract

           ได้ทำการตรวจสอบปริมาณโพรลีนในอ้อย 17 พันธุ์ โดยมีรูปแบบการให้น้ำ 4 แบบ ได้แก่ 1. ให้น้ำปกติ 2. ให้น้ำลดลงครึ่งหนึ่งเป็นเวลา 9 วัน 3. งดให้น้ำเป็นเวลา 9 วัน และ 4. งดให้น้ำเป็นเวลา 12 วัน ในอ้อยอายุ 3 เดือน ที่ปลูกในกระถางในสภาพโรงเรือน วางแผนการทดลองแบบ split plot โดยมีวิธีการให้น้ำเป็นปัจจัยหลัก และพันธุ์อ้อยเป็นปัจจัยรอง ทำ 5 ซ้ำ แต่ละซ้ำมี 1 กระถางที่มีอ้อย 1 ต้น ทำการตรวจสอบปริมาณโพรลีนที่หลังการลดหรืองดน้ำและหลังการฟื้นตัว และคำนวณเปอร์เซ็นต์เปรียบเทียบของปริมาณโพรลีน ระหว่างอ้อยที่ได้รับการงดน้ำวิธีต่างๆ กับอ้อยที่ได้รับน้ำปกติเมื่อหลังการงดน้ำ และระหว่างหลังการฟื้นตัวกับหลังการงดน้ำในแต่ละวิธีการให้น้ำ จากการทดลองพบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญของพันธุ์อ้อยในลักษณะปริมาณโพรลีนในอ้อยอายุ 3 เดือน เมื่อได้รับสภาพขาดน้ำ ทั้งหลังการงดน้ำและฟื้นตัว โดยไม่พบความแตกต่างของพันธุ์อ้อยในอ้อยที่ได้รับน้ำปกติ พบระดับนัยสำคัญของวิธีการให้น้ำในสภาพขาดน้ำ เฉพาะช่วงหลังการงดน้ำที่มีระดับของความต่างศักย์ของน้ำในดินต่างกัน โดยพบการเพิ่มขึ้นของปริมาณโพรลีนตามระดับการขาดน้ำเท่ากับ 106.4, 199.7 และ 327.9 เปอร์เซ็นต์ เมื่อมีความแตกต่างของความต่างศักย์ของน้ำในดินเท่ากับ -25, -78 และ -94 kPa ตามลำดับ เทียบกับที่ได้รับน้ำปกติที่มีความต่างศักย์ของน้ำในดินเท่ากับ -8 kPa แต่ ในช่วงหลังการฟื้นตัวที่มีความต่างศักย์ของน้ำในดินเพิ่มขึ้น อ้อยที่ได้รับสภาพขาดน้ำโดยวิธีการให้น้ำที่ต่างกัน มีปริมาณโพรลีนลดลง โดยมีค่าที่ใกล้เคียงกันและไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามพบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในช่วงหลังการฟื้นตัวในอ้อยที่ได้รับสภาพขาดน้ำกับอ้อยที่ได้รับน้ำปกติ เมื่อพิจารณาส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของปริมาณโพรลีนในพันธุ์อ้อย 17 พันธุ์ที่ศึกษา พบว่าเมื่อได้รับสภาพการขาดน้ำมีส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานมากกว่าในสภาพที่ได้รับน้ำปกติ โดยเฉพาะในช่วงหลังการงดน้ำที่ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานใกล้เคียงกันในอ้อยที่มีระดับความต่างศักย์ของน้ำในดินแตกต่างกัน แต่เมื่อคำนวณเป็นเปอร์เซ็นต์เปรียบเทียบของปริมาณโพรลีนระหว่างอ้อยที่ได้รับสภาพการขาดน้ำกับอ้อยที่ได้รับน้ำปกติ พบว่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานในอ้อยที่งดน้ำ 12 วัน สูงกว่าอ้อยที่ลดหรืองดน้ำ 9 วัน ดังนั้นการใช้เปอร์เซ็นต์เปรียบเทียบของปริมาณโพรลีนระหว่างอ้อยที่ได้รับสภาพการขาดน้ำกับอ้อยที่ได้รับน้ำปกติ ที่ได้รับการงดน้ำเป็นเวลา 12 วัน โดยมีความต่างศักย์ของน้ำในดินเท่ากับ -94 kPa และมีความเหมาะสมในการใช้ในการคัดแยกพันธุ์อ้อยโดยการตรวจสอบปริมาณโพรลีน

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

Section
สาขาพืชศาสตร์ (Plant Sciences )