การเปลี่ยนแปลงเปอร์เซ็นต์แอนติออกซิแดนซ์ของพันธุ์อ้อยในสภาพการขาดน้ำในโรงเรือน|Change in Antioxidant Percentage of Sugarcane Varieties under Draught Condition in Nursery

Main Article Content

เสรีวัฒน์ มูลทองแสง
เรวัต เลิศฤทัยโยธิน
ชัยณรงค์ รัตนกรีฑากุล

Abstract

           การตรวจสอบเปอร์เซ็นต์แอนติออกซิแดนซ์ในอ้อย 17 พันธุ์ โดยมีรูปแบบการให้น้ำ 4 แบบ ได้แก่ 1.ให้น้ำปกติ 2.ให้น้ำลดลงครึ่งหนึ่งเป็นเวลา 9 วัน 3.งดให้น้ำเป็นเวลา 9 วัน และ 4.งดให้น้ำเป็นเวลา 12 วัน ในอ้อยอายุ 3 เดือนที่ปลูกในกระถางภายใต้สภาพโรงเรือน วางแผนการทดลองแบบ split plot โดยมีวิธีการให้น้ำเป็นปัจจัยหลัก และพันธุ์อ้อยเป็นปัจจัยรอง จำนวน 5 ซ้ำ แต่ละซ้ำมี 1 กระถางที่มีอ้อย 1 ต้น ทำการตรวจสอบเปอร์เซ็นต์แอนติออกซิแดนซ์ ที่หลังการลดหรืองดน้ำและหลังการฟื้นตัว และคำนวณเปอร์เซ็นต์เปรียบเทียบของเปอร์เซ็นต์แอนติออกซิแดนซ์ ระหว่างอ้อยที่งดน้ำวิธีต่างๆกับอ้อยที่ได้รับน้ำปกติเมื่อหลังการงดน้ำ และระหว่างหลังการฟื้นตัวกับหลังการงดน้ำในแต่ละวิธีการให้น้ำ จากการทดลองพบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญของพันธุ์อ้อยในลักษณะเปอร์เซ็นต์แอนติออกซิแดนซ์ เมื่ออ้อยได้รับสภาพขาดน้ำ ทั้งหลังการงดน้ำและหลังการฟื้นตัว โดยไม่พบความแตกต่างทางสถิติของพันธุ์อ้อยในอ้อยที่ได้รับน้ำปกติ นอกจากนี้พบนัยสำคัญทางสถิติของเปอร์เซ็นต์แอนติออกซิแดนซ์ของวิธีการให้น้ำ ทั้งหลังการงดน้ำที่มีระดับของความต่างศักย์ของน้ำในดินต่างกัน และหลังการฟื้นตัวที่มีระดับของความต่างศักย์ของน้ำในดินใกล้เคียงกัน โดยในช่วงหลังการงดน้ำพบการเพิ่มขึ้นของเปอร์เซ็นต์แอนติออกซิแดนซ์ตามระดับการขาดน้ำ โดยมีค่าเพิ่มขึ้นเท่ากับ 67.02, 91.52 และ 130.76 เปอร์เซ็นต์ เมื่อมีความต่างศักย์ของน้ำในดินเท่ากับ -25, -78 และ -94 kPa ตามลำดับ นอกจากนี้พบว่าเปอร์เซ็นต์แอนติออกซิแดนซ์หลังระยะการฟื้นตัวมีระดับใกล้เคียงกับหลังระยะงดน้ำ ถึงแม้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงความต่างศักย์ของน้ำในดินเป็น -3, -6 และ -6 kPa ตามลำดับ พบระดับค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของเปอร์เซ็นต์แอนติออกซิแดนซ์ในพันธุ์อ้อย 17 พันธุ์ เมื่อได้รับสภาพขาดน้ำมากกว่าในสภาพได้รับน้ำปกติ โดยในระยะหลังการงดน้ำ ระดับค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานมีแนวโน้มที่สูงตามระดับความต่างศักย์ของน้ำในดินที่ลดลง และพบค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของเปอร์เซ็นต์แอนติออกซิแดนซ์ที่สูงขึ้นเมื่อคำนวณเป็นเปอร์เซ็นต์เปรียบเทียบของเปอร์เซ็นต์แอนติออกซิแดนซ์ ทั้งนี้เปอร์เซ็นต์เปรียบเทียบระหว่างอ้อยที่ได้รับวิธีการงดน้ำกับอ้อยที่ได้รับน้ำปกติหลังการงดน้ำ มีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานสูงกว่าเปอร์เซ็นต์เปรียบเทียบระหว่างเปอร์เซ็นต์แอนติออกซิแดนซ์หลังการฟื้นตัวและหลังการงดน้ำของแต่ละวิธีการให้น้ำ ทั้งนี้ระดับค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของเปอร์เซ็นต์เปรียบเทียบระหว่างอ้อยที่ได้รับการงดน้ำกับอ้อยที่ได้รับน้ำปกติ มีค่าเพิ่มขึ้นตามค่าความต่างศักย์ของน้ำในดินที่ลดลง โดยมีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานที่สูงสุดเท่ากับ 29.44 เปอร์เซ็นต์ เมื่องดน้ำ 12 วัน ซึ่งมีความต่างศักย์ของน้ำในดินเท่ากับ -94 kPa โดยสามารถแบ่งอ้อย 17 พันธุ์ เป็นกลุ่มพันธุ์ตามระดับนัยสำคัญทางสถิติได้ถึง 8 กลุ่ม ดังนั้นการใช้เปอร์เซ็นต์เปรียบเทียบหลังระยะการงดน้ำระหว่างอ้อยที่งดน้ำ 12 วัน กับที่ได้รับน้ำปกติ มีความเหมาะสมในการแบ่งพันธุ์อ้อยโดยพิจารณาเปอร์เซ็นต์แอนติออกซิแดนซ์เมื่ออ้อยได้รับสภาพขาดน้ำ

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

Section
สาขาพืชศาสตร์ (Plant Sciences )