การวิเคราะห์เสถียรภาพของพันธุ์อ้อยกำแพงแสนชุดปี 2000-2003 ในอ้อยปลูก|Stability of Kamphaeng Saen Sugarcane Varieties Series 2000-2003 in Plant Cane
Main Article Content
Abstract
พันธุ์อ้อยที่ได้รับการคัดเลือกอาจมีความดีเด่นจำเพาะในบางพื้นที่หรือมีศักยภาพในการปลูกในพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ดังนั้นการทดสอบพันธุ์ในพื้นที่ปลูกอ้อยต่างๆ และการตรวจสอบเสถียรภาพของพันธุ์อ้อยจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการรับรองพันธุ์อ้อย การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบความเหมาะสมของพันธุ์อ้อยในพื้นที่ปลูกอ้อยต่างๆ และตรวจสอบเสถียรภาพพันธุ์ในลักษณะของผลผลิต ซีซีเอส และผลผลิตน้ำตาล โดยปลูกทดสอบอ้อยพันธุ์กำแพงแสนของศูนย์วิจัยและพัฒนาอ้อยและน้ำตาล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชุดปี 2000-2003 จำนวน 10 พันธุ์ และพันธุ์เปรียบเทียบจำนวน 2 พันธุ์ จำนวน 8 แปลง วางแผนการทดลองแบบสุ่มในบลอคสมบูรณ์ (Randomized Complete Block Design, RCBD) จำนวน 3 ซ้ำ ตรวจสอบค่าเสถียรภาพของพันธุ์ด้วยวิธีวิเคราะห์อิทธิพลหลักแบบบวกและอิทธิพลร่วมแบบผลคูณ (AMMI) การศึกษาเสถียรภาพพบว่า พันธุ์ที่มีค่าเสถียรภาพของพันธุ์สูงในลักษณะผลผลิตอ้อย ซีซีเอสและผลผลิตน้ำตาล คือพันธุ์ LK 92-11 พันธุ์ที่มีค่าเสถียรภาพของพันธุ์สูงในลักษณะซีซีเอสคือ กำแพงแสน 01-11-5 และกำแพงแสน 00-103 และพันธุ์ K 88-92 เป็นพันธุ์ที่มีค่าเสถียรภาพของพันธุ์สูงในลักษณะผลผลิตน้ำตาล ทั้งนี้พันธุ์อ้อยที่ให้ผลผลิตอ้อย ซีซีเอส ผลผลิตน้ำตาลสูงคือ พันธุ์กำแพงแสน 00-57 กำแพงแสน 03-3-5 และกำแพงแสน 03-3-6 โดยพันธุ์กำแพงแสน 00-57 มีผลผลิตน้ำตาลดีเด่นที่แปลงชะอำและบึงสามัคคี แต่ความดีเด่นลดลงที่แปลงศรีเทพ และหนองแสง พันธุ์กำแพงแสน 00-103 มีผลผลิตน้ำตาลดีเด่นที่แปลงบ้านบึง แต่ความดีเด่นลดลงที่แปลงหนองแสง พันธุ์กำแพงแสน 00-24 มีผลผลิตน้ำตาลดีเด่นที่แปลงบึงสามัคคี และบ้านบึง แต่ความดีเด่นลดลงที่แปลงหนองแสงและชะอำ ส่วนพันธุ์กำแพงแสน 03-3-5 มีผลผลิตน้ำตาลดีเด่นที่แปลงหนองแสง และชะอำ แต่ความดีเด่นลดลงที่แปลงหนองเรือและบ้านบึง