การมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ใช้น้ำในการจัดการชลประทาน กรณีศึกษา โครงการหนองแดง อำเภอเมือง จังหวัดสาระวัน ประเทศสาธารณรัฐ ประชาธิปไตย ประชาชนลาว | The Participation of Water User’s Group on Irrigation Management : A Case Study Of Nongdaeng Project, Saravane Province, Lao PDR.

Main Article Content

พัดสะหวัน ไชยะวง
บัญชา ขวัญยืน

Abstract

           การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา  1) สถานสภาพทั่วไป เศรษฐกิจและสังคมของเกษตรกร 2)  ความรู้ความเข้าใจของเกษตรกรในการจัดการน้ำชลประทาน 3) ระดับการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการจัดการน้ำชลประทาน และ 4) ปัจจัยต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการจัดการน้ำชลประทาน  กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือ เกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานในเขตโครงการชลประทานหนองแดง ทั้งนี้ผลลัพธ์ประเมินด้วยสถิติโดยใช้ t- test และ one way – ANOVA กำหนดค่านัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05


           ผลการวิจัยพบว่า โครงการชลประทานหนองแดงใช้ในการเกษตรเพื่อปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว โดยเป็นข้าวเหนียวร้อยเปอร์เซ็นต์ ระบบการบริหารจัดการอยู่ในรูปแบบการจัดการร่วมระหว่างกลุ่มผู้ใช้น้ำของเกษตรกร กับภาครัฐ (แต่กลุ่มผู้ใช้น้ำจะมีความรับผิดชอบมากกว่า) ไม่ว่าจะเป็นการออกข้อกำหนดกฎระเบียบที่เป็นนิติกรรมภายในกลุ่ม การคุ้มครองระบบชลประทาน การบำรุงรักษา การวางแผนการส่งน้ำ การเก็บเงินค่าน้ำ การวางกฎกติกาต่อผู้กระทำผิด การแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในโครงการ ฯลฯ ส่วนภาครัฐจะคอยให้คำปรึกษา ช่วยเหลือทางด้านแนวความคิด ด้านวิชาการ และประเมินผลภายหลังสิ้นฤดูการผลิต ตลอดระยะที่ผ่านมา เป็นเวลาเกือบสิบห้าปีที่โครงการดังกล่าวมีรูปแบบการบริหารจัดการที่มองว่าดีเป็นต้นแบบในระดับจังหวัด แต่ในความเป็นจริงแล้ว จากขบวนการดำเนินงานที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า ระบบการจัดการดังกล่าวยังขาดรูปแบบทางวิชาการ


           เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกพืชผักสวนครัวในที่ของตนเองและส่วนมากจะอาศัยพืชผักและสัตว์ที่หามาจากป่า จากแม่น้ำลำคลอง มาประกอบเป็นอาหารประจำวัน เกษตรกรปลูกข้าว 2 ครั้งต่อปี ครั้งแรกปลูกต้นเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ โดยใช้น้ำชลประทาน ครั้งที่ 2 คือนาปีปลูกเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม เกษตรกรจะใช้น้ำฝนเนื่องจากเขตดังกล่าวมีฝนตกหนาแน่น เฉลี่ยปริมาณน้ำฝนอยู่ที่ 1,800-2,000 มม./ปี ถ้าประเมินด้านศักยภาพน้ำต้นทุนเห็นว่ามีความพอเพียงสามารถทำการเพาะปลูกได้อย่างเต็มที่แต่ด้านการขยายพื้นที่เพาะปลูกมีข้อจำกัดเนื่องจากพื้นที่ที่ตั้งของโครงการอยู่เขตชนบทห่างไกลไม่มีตลาด จำนวนประชากรมีน้อย แรงงานไม่พอที่จะทำทั้งหมดของพื้นที่ และอีกปัญหาหนึ่งกลุ่มผู้ใช้น้ำยังขาดความรู้ทางด้านวิชาการได้รับการฝึกอบรมทางวิชาการน้อยเท่าที่ควรจะเป็น ไม่เคยไปศึกษาดูงานนอกพื้นที่จึงทำให้การจัดการในระยะผ่านมาไม่ค่อยดีเท่าที่ควร

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

Section
สาขาวิศวกรรมศาสตร์ (Engineering )