ผลของวัสดุปักชำต่อการเกิดไรโซมและรากจากการปักชำแผ่นใบกวักมรกต | Effects of Rooting Media on Rhizome and Adventitious Root Formation of Zamioculcas zamiifolia (Lodd.) Engl. Leaf Blade Cuttings

Main Article Content

รชต สินทนะโยธิน
กฤษณา กฤษณพุกต์
ลพ ภวภูตานนท์

Abstract

            กวักมรกตเป็นไม้ประดับที่โดยทั่วไปขยายพันธุ์ด้วยการปักชำแผ่นใบ เกิดไรโซมซึ่งมีลักษณะคล้ายหัวอวบน้ำขนาดเล็ก และรากใหม่จากรอยตัดที่โคนแผ่นใบ ยอดใหม่พัฒนาจากไรโซมที่เติบโตและมีขนาดใหญ่ขึ้น ศึกษาการเกิดไรโซมและรากจากการปักชำแผ่นใบขนาดพื้นที่ใบเฉลี่ย 33.9 ตร.ซม. ในวัสดุปักชำ 4 ชนิดคือ 1) ทราย ผสม ถ่านแกลบ (1:1 โดยปริมาตร) 2) ทราย ผสม ขุยมะพร้าว (1:1 โดยปริมาตร)  3) ขุยมะพร้าว ผสมถ่านแกลบ (1:1 โดยปริมาตร) และ 4) พีทมอส พบว่า แผ่นใบที่ปักชำในวัสดุทั้ง 4 ชนิด เกิดไรโซม และรากใหม่ 100% ภายใน 60 วัน หลังจากปักชำ แผ่นใบที่ปักชำในพีทมอส และ ทราย ผสม ถ่านแกลบ ให้คะแนนคุณภาพรากที่ดี มีขนาดไรโซมใหญ่ใกล้เคียงกัน และมีค่ามากกว่าแผ่นใบที่ปักชำใน ขุยมะพร้าว ผสม ถ่านแกลบ และ ทราย ผสม ขุยมะพร้าว ตามลำดับ  นำแผ่นใบกวักมรกตที่ออกรากแล้วไปปลูกในกระถางพลาสติกขนาด 6 นิ้ว โดยใช้ดินผสมเป็นวัสดุปลูก พบว่าหลังการย้ายปลูก 60 วัน แผ่นใบที่ได้จากการปักชำในพีทมอส และในทราย + ถ่านแกลบ มีเปอร์เซ็นต์การเกิดยอดใหม่ยอดแรกใกล้เคียงกันคือ 69.6 และ 60.9% ตามลำดับ ซึ่งมากกว่าการเกิดยอดใหม่ของแผ่นใบที่ได้จากการปักชำใน ขุยมะพร้าว ผสม ถ่านแกลบ (47.8%) และ ทราย ผสมขุยมะพร้าว (43.5%) ตามลำดับ ขณะที่ขนาดของยอดใหม่ที่ได้ไม่แตกต่างกันทางสถิติ พีทมอส และ ทราย ผสม ถ่านแกลบซึ่งเป็นวัสดุปักชำที่ให้ผลดีในการทดลองนี้ มีค่าความหนาแน่น ความเป็นกรด-ด่าง การนำไฟฟ้า ความพรุนรวม สัดส่วนช่องว่างขนาดเล็กที่เกี่ยวข้องกับการอุ้มน้ำ และสัดส่วนช่องว่างขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการระบายน้ำและอากาศแตกต่างกันทางสถิติ แสดงให้เห็นว่าการเกิดไรโซมและรากจากการปักชำแผ่นใบกวักมรกตมีความยืดหยุ่น สามารถปรับตัวได้ดีในวัสดุปักชำที่มีสมบัติต่างกัน

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

Section
สาขาพืชศาสตร์ (Plant Sciences )