งานวิจัยด้านอาหารสำหรับการเลี้ยงปลาดุกอุยเทศ | Nutritional Researches on Hybrid Clariid Catfish (Clarias macrocephalus x C. gariepinus)
Main Article Content
Abstract
ความสำเร็จของการเพาะพันธุ์ปลาดุกอุยเทศในปี 2531 ได้ก่อให้เกิดงานวิจัยจำนวนมากเพื่อสนับสนุนการเพาะเลี้ยงโดยเฉพาะงานวิจัยด้านอาหารซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ด้าน คืออาหารลูกปลาวัยอ่อนซึ่งควรใช้อาหารมีชีวิตสำหรับการอนุบาลในช่วงแรก ได้แก่ ไรแดงและอาร์ทีเมีย ที่สามารถใช้ได้ทั้งแบบมีชีวิตและแบบแช่แข็ง ก่อนเปลี่ยนเป็นอาหารสำเร็จรูปสำหรับการอนุบาลในช่วงหลัง อีกด้านคืออาหารสำหรับการเลี้ยงปลาให้ได้ขนาดตลาดซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ ระดับโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต กรดไขมันชนิด ω6 และ ω3 ในอาหารที่เหมาะสมควรมีค่า 35-40, 4-10, 28-39, 1.0-1.5 และ 0.5-1.0% ตามลำดับ สามารถแทนที่โปรตีนปลาป่นหรือกากถั่วเหลืองในสูตรอาหารด้วยแหล่งโปรตีนอื่นๆ ได้ไม่เกิน 50% การให้อาหารแบบให้กินจนอิ่มวันละ 2 ครั้ง ที่มีระยะเวลาห่างกัน 3-6 ชั่วโมง เหมาะสมกับการเลี้ยงเชิงพาณิชย์และสามารถใช้ได้ทั้งอาหารสำเร็จรูปชนิดจมและลอยน้ำ สามารถเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตและการใช้ประโยชน์อาหารได้ด้วยการเสริมเอนไซม์หรือโปรไบโอติกการเลี้ยงปลาจนได้ขนาดตลาดควรใช้อาหารขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากับ 3.5-5.0 มิลลิเมตร และควรควบคุมอัตราการให้อาหารตลอดการเลี้ยงให้มีค่าประมาณ 4% ของน้ำหนักตัวต่อวัน