ผลของการใส่เถ้าไม้ยางพาราต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตข้าวในดินกรด | Effects of Para Rubber Ash Application on Growth and Yield of Rice (Oryza sativa indica) Grown in Acidic Soils

Main Article Content

ณัฐวุฒิ เอ้งฉ้วน
สุริยา สาสนรักกิจ
จันทร์จรัส วีรสาร
อรุณศิริ กำลัง

Abstract

            เถ้าไม้ยางพาราเป็นผลพลอยได้จำนวนมากจากโรงผลิตไฟฟ้าพลังงานชีวมวล มีค่าพีเอชและปริมาณโพแทสเซียมสูง การทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการนำเถ้าไม้ยางพารามาใช้เป็นวัสดุปรับปรุงดินกรดเพื่อปลูกข้าว ประกอบด้วย 2 การทดลอง การทดลองที่ 1 เพื่อศึกษาผลของอัตราการใส่เถ้าไม้ยางพาราต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของข้าวที่ปลูกในดินที่มีสภาพกรดทำในโรงเรือนปลูกพืชทดลองของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เทคโนธานีคลองห้า จังหวัดปทุมธานี วางแผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์ทำ 4 ซ้ำ 6 ตำรับการทดลองคือ ตำรับที่ 1 โดโลไมท์ อัตรา 600 กก./ไร่ ตำรับที่ 2–6 ใส่เถ้าไม้ยางพาราอัตรา 300, 600, 900, 1,200 และ 1,500 กก./ไร่ ตามลำดับ พบว่าผลผลิตข้าวในกลุ่มตำรับเถ้าไม้ยางพารา 600-1,500 กก./ไร่ ไม่มีความแตกต่างทางสถิติกับตำรับโดโลไมท์ โดยที่ตำรับเถ้าไม้ยางพารา 600 กก./ไร่ ขึ้นไปให้ผลผลิตข้าวมากที่สุด ดินในกลุ่มตำรับทดลองที่ใส่เถ้าไม้มีปริมาณธาตุฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์และโพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้สูงกว่าตำรับโดโลไมท์ การทดลองที่ 2 เพื่อศึกษาผลของการใช้เถ้าไม้ยางพาราร่วมกับปุ๋ยเคมีต่อการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตข้าวในดินกรด ในแปลงทดลองของศูนย์วิจัยข้าวคลองหลวง ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี วางแผนการทดลองแบบสุ่มในบล็อกสมบูรณ์ ทำ 3 ซ้ำ 7 ตำรับการทดลองคือ ตำรับที่ 1ไม่ใส่เถ้าไม้ยางพาราและไม่ใส่ปุ๋ยเคมี (ตำรับควบคุม) ตำรับที่ 2–7 เป็นตำรับที่มีการใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-6-6 โดยตำรับที่ 2 ใส่ปุ๋ยเคมีอัตรา 25 กก./ไร่ ตำรับที่ 3 ใส่ปุ๋ยเคมีอัตรา 50 กก./ไร่ ตำรับที่ 4 และ 5 ใส่ปุ๋ยเคมีอัตรา 25 กก./ไร่ ร่วมกับเถ้าไม้ยางพารา 600 และ 1,200 กก./ไร่ ตามลำดับ ตำรับที่ 6 และ 7 ใส่ปุ๋ยเคมีอัตรา 50 กก./ไร่ ร่วมกับเถ้าไม้ยางพารา 600 และ 1,200 กก./ไร่ ตามลำดับ ปุ๋ยเคมีสูตร 12-6-6 อัตรา 50 กก./ไร่ เป็นอัตราแนะนำของสำนักวิจัยและพัฒนาข้าว (2552) พบว่ากลุ่มตำรับที่มีการใส่เถ้าไม้ยางพาราร่วมกับปุ๋ยเคมี (T4-T7) ให้ผลผลิตสูงกว่ากลุ่มตำรับปุ๋ยเคมี (T2, T3)

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

Section
สาขาพืชศาสตร์ (Plant Sciences )