ศักยภาพของสารสกัดหยาบจากผลสมอไทยในการลดความรุนแรงของโรคแคงเกอร์มะนาว | Potential of Chebulic myrobalan Fruit Crude Extract on Decreasing Lime Canker Disease Virulence

Main Article Content

ศศิธร วุฒิวณิชย์

Abstract

            การศึกษาศักยภาพของสารสกัดหยาบจากผลสมอไทยในการลดความรุนแรงของโรคแคงเกอร์มะนาวที่เกิดจากแบคทีเรีย  Xanthomonas  citri sub sp. citri (X.c.c.)  ทำโดยนำสารสกัดหยาบจากผลสมอไทยที่สกัดโดยเอทานอล 95% และระเหยตัวทำละลายออกด้วย  Rotary  vacuum  evaporator ซึ่งมีประสิทธิภาพดีในการยับยั้งเชื้อจากการทดสอบโดยวิธี paper disc agar diffusion ในห้องปฏิบัติการ  มาศึกษาระดับความเข้มข้นและวิธีการใช้ที่เหมาะสมในการลดขนาดแผลโรคแคงเกอร์บนใบมะนาวที่ปลูกในเรือนทดลอง โดยใช้สารสกัดหยาบจากผลสมอไทยความเข้มข้น 10,000  ppm และ 20,000 ppm ฉีดพ่นลงบนใบมะนาวพันธุ์แป้นอายุประมาณ 7 เดือน 1 ครั้ง ก่อนการปลูกเชื้อโดยวิธีดัดแปลง detach leaf หลังจากนั้นฉีดพ่นสารสกัดหยาบจากผลสมอไทยความเข้มข้นเดิมซ้ำอีก 0-2 ครั้งแต่ละครั้งห่างกัน 10 วัน ติดตามการพัฒนาอาการของโรค ที่เวลา 10, 20, 30, 40 และ 50 วัน โดยวัดขนาดแผลเปรียบเทียบกับ control ซึ่งใช้น้ำนึ่งฉีดพ่นแทนสารสกัดจากพืช  ผลการทดลองพบว่าสารสกัดหยาบจากผลสมอไทยทั้ง 2 ระดับความเข้มข้น สามารถลดขนาดแผลโรคแคงเกอร์ลงได้เมื่อเทียบกับ control  โดยกรรมวิธีที่ฉีดพ่นสารสกัดหยาบจากผลสมอไทย 20,000 ppm รวม 3 ครั้ง สามารถลดขนาดแผลโรคแคงเกอร์บนใบมะนาวได้ดีที่สุด โดยขนาดแผลเล็กกว่ากรรมวิธีอื่นและ control  ค่าเฉลี่ยขนาดแผลวัดที่ 10, 20, 30, 40 และ 50 วัน เท่ากับ 2.78, 2.71, 2.57, 2.56 และ 2.70 มม.ตามลำดับ  รองลงมาได้แก่ กรรมวิธีที่ฉีดพ่นสารสกัดหยาบ 10,000 ppm  รวม 3 ครั้ง ขนาดแผลเฉลี่ย 2.87, 2.80, 2.63, 2.60 และ 2.70 มม. ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับ control ขนาดแผลเฉลี่ย 3.00, 3.14, 3.43, 3.66 และ 3.96 มม.ตามลำดับ แผลมีการพัฒนาขยายขนาด นูนฟูและลุกลามมากขึ้นเรื่อยๆตามระยะเวลาที่นานขึ้น จะเห็นได้ว่าการฉีดพ่นสารสกัดหยาบจากผลสมอไทย 20,000 ppm ทุกๆ 10 วัน จำนวน 3 ครั้งติดต่อกัน จะให้ผลในการลดขนาดแผลและชลอการพัฒนาอาการของโรคแคงเกอร์ได้ดีกว่าการฉีดพ่นสารสกัดหยาบเพียงครั้งเดียวหรือ 2 ครั้ง  จากนั้นได้นำสารสกัดหยาบจากผลสมอไทยมาใช้ในการลดความรุนแรงของโรคแคงเกอร์ของมะนาวพันธุ์แป้นในสภาพแปลงซึ่งมีปัญหาการระบาดของโรคแคงเกอร์ที่จังหวัดกาญจนบุรี โดยใช้สารสกัดหยาบ 5,000, 10,000 และ 20,000 ppm ฉีดพ่นลงบนทรงพุ่มมะนาวแป้น (อายุประมาณ 1 ปี) ทั้งหมด 5 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 7 วัน ติดตามการพัฒนาอาการของโรค โดยนับจำนวนใบที่เกิดแผลและวัดขนาดแผลทุก 7 วัน เปรียบเทียบกับ control พบว่ากรรมวิธีที่ 1 ฉีดพ่นสารสกัดหยาบจากผลสมอไทย 20,000 ppm สามารถลดจำนวนแผล ขนาดของแผล และการพัฒนาอาการของโรคแคงเกอร์ได้ดีที่สุด โดยมีแผลเกิดขึ้นที่ใบเพียง 12 ใบ จากจำนวนใบทั้งหมด 169 ใบ คิดเป็นเปอร์เซนต์ การเกิดโรค 0.07 % ซึ่งน้อยกว่ากรรมวิธีอื่น โดยลักษณะแผลที่เกิดขึ้นมีขนาดเล็ก ไม่ขยายลุกลามและค่อนข้างแห้ง  ค่าเฉลี่ยขนาดแผลในสัปดาห์ที่ 5 วัดได้ 1.40 มม. รองลงมาได้แก่ กรรมวิธีที่ 2 ฉีดพ่นสารสกัดหยาบจากผลสมอไทย 10,000 ppm มีแผลเกิดขึ้นบนใบจำนวน 25 ใบ จากใบทั้งหมด 143 ใบ คิดเป็นเปอร์เซนต์การเกิดโรค 0.17 % และกรรมวิธีที่ 3 ฉีดพ่นสารสกัดหยาบ 5,000 ppm มีแผลที่เกิดขึ้นบนใบจำนวน 16 ใบ จากใบทั้งหมด 143 ใบ คิดเป็นเปอร์เซนต์การเกิดโรค 0.11 % กรรมวิธีนี้ขนาดแผลใหญ่กว่ากรรมวิธีที่ 1 และ 2 เมื่อเปรียบเทียบกับ control เกิดแผลที่ใบจำนวน 28 ใบ จากใบทั้งหมด 177 ใบ คิดเป็นเปอร์เซนต์การเกิดโรค 0.16% และขนาดแผลใหญ่ที่สุด ค่าเฉลี่ยในสัปดาห์ที่ 5 วัดได้ 4.60 มม. ลักษณะแผลขยายลุกลาม นูนฟู มี halo ล้อมรอบแผลเป็นวงกว้าง จากผลการทดลองดังกล่าวแสดงถึงศักยภาพของสารสกัดหยาบจากผลสมอไทยในการนำไปพัฒนาและประยุกต์ใช้ในการลดความรุนแรงของโรคแคงเกอร์ของมะนาวในสภาพแปลงต่อไป

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

Section
สาขาพืชศาสตร์ (Plant Sciences )