การเปรียบเทียบอ้อยพันธุ์กำแพงแสนจากต่างคู่ผสมเมื่อไม่ให้ปุ๋ยไนโตรเจนในอ้อยตอ | Comparison of Kamphaeng Saen Sugarcane Varieties from Different Crosses without Nitrogen Fertilizer Application in Ratoon Cane
Main Article Content
Abstract
ได้ทำการศึกษาพันธุ์อ้อยลูกผสมจากต่างคู่ผสม เมื่อไม่ได้รับและได้รับปุ๋ยไนโตรเจน เพื่อตรวจสอบพันธุ์อ้อยลูกผสมและคู่ผสมที่มีศักยภาพสูง เมื่อไม่ได้รับปุ๋ยไนโตรเจนในอ้อยตอ1 ทำการตรวจสอบในลักษณะผลผลิตอ้อย ซีซีเอส และผลผลิตน้ำตาล ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาอ้อยและน้ำตาล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วางแผนการทดลองแบบ split plot in design โดย main plot เป็นปัจจัยการไม่ใส่และใส่ปุ๋ยไนโตรเจน อัตรา 50 กก.ต่อไร่ และ sub plot เป็นพันธุ์อ้อยลูกผสม จำนวน 18 พันธุ์จาก 6 คู่ผสม คู่ผสมละ 3 พันธุ์ แปลงย่อย มี 2 แถว แถวยาว 8 เมตร ระยะระหว่างแถว 1.5 ม จากการทดลองพบว่า ในอ้อยตอ 1 พบพันธุ์อ้อยที่มีผลผลิตอ้อยเมื่อไม่ได้รับปุ๋ยไนโตรเจนมากกว่าเมื่อได้รับปุ๋ย แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ จำนวน 3 พันธุ์ อย่างไรก็ตามทุกคู่ผสมมีผลผลิตอ้อยตอเมื่อไม่ได้รับปุ๋ยไนโตรเจนต่ำกว่าเมื่อได้รับปุ๋ยไนโตรเจน ทั้งนี้พันธุ์อ้อยกำแพงแสนที่มีศักยภาพเมื่อไม่ได้รับปุ๋ยไนโตรเจน ได้แก่พันธุ์กำแพงแสน 07-10-3 และกำแพงแสน 07-17-3 และพบว่าค่าเฉลี่ยของคู่ผสมระหว่างพันธุ์กำแพงแสน 94-13 กับ K 84-200 มีศักยภาพสูงสุด โดยมีเปอร์เซ็นต์เปรียบเทียบสูงสุด และมีพันธุ์อ้อย 3 พันธุ์ที่มีศักยภาพสูงเมื่อไม่ได้รับปุ๋ยไนโตรเจน ในส่วนของค่าซีซีเอสของอ้อยตอ 1 พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในพันธุ์อ้อยลูกผสมเมื่อไม่ได้รับปุ๋ยไนโตรเจน จำนวน 9 พันธุ์ และพบพันธุ์อ้อยที่มีศักยภาพของซีซีเอสเมื่อไม่ได้รับปุ๋ยไนโตรเจน ได้แก่ พันธุ์กำแพงแสน 07-21-4 กำแพงแสน 07-17-3 และกำแพงแสน 07-10-3 ตามลำดับ ส่วนคู่ผสมพบว่า คู่ผสมระหว่างกำแพงแสน 94-13 กับ K 84-200 และคู่ผสมระหว่างกำแพง 94-13 กับกำแพงแสน 00-92 มีค่าเฉลี่ยที่สูงเมื่อไม่ได้รับปุ๋ย เมื่อพิจารณาผลผลิตน้ำตาลของคู่ผสมพบว่า คู่ผสมระหว่างกำแพงแสน 94-13 กับกำแพงแสน 98-024 เป็นคู่ผสมเดียวที่ค่าเฉลี่ยเปอร์เซ็นต์เปรียบเทียบสูงกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ และในพันธุ์อ้อย ได้แก่พันธุ์กำแพงแสน 07-6-5 มีผลผลิตน้ำตาลในอ้อยตอ 1 เมื่อไม่ได้รับปุ๋ยไนโตรเจนมากกว่าเมื่อได้รับปุ๋ยไนโตรเจน เป็นเปอร์เซ็นต์สูงสุดเท่ากับ 147.1 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้เมื่อพิจารณาพันธุ์อ้อยที่มีศักยภาพพบว่า พันธุ์กำแพงแสน 07-10-3 มีศักยภาพในผลผลิตน้ำตาลในอ้อยตอ 1 ทั้งในสภาพเมื่อไม่ได้รับและได้รับปุ๋ยไนโตรเจน และพันธุ์กำแพงแสน 07-17-3 และกำแพงแสน 07-21-4 มีศักยภาพเฉพาะในสภาพเมื่อไม่ได้รับปุ๋ยไนโตรเจน