ศักยภาพของอ้อยพันธุ์กำแพงแสนในลักษณะผลผลิตและองค์ประกอบผลผลิตเมื่อเก็บเกี่ยวเร็ว | Potential of Kamphaeng Saen Sugarcane Varieties in Yield and Yield Components when harvest early
Main Article Content
Abstract
ในประเทศไทยวัตถุดิบที่มีความเหมาะสมสำหรับการผลิตเอทานอล คือ มันสำปะหลังและอ้อย (กากน้ำตาลหรือโมลาส) เนื่องจากมีปริมาณมาก เมื่อนำมาผลิตเอทานอลก็ไม่ส่งผลกระทบให้เกิดการขาดแคลนอาหาร และการใช้ประโยชน์จากผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมน้ำตาลในการผลิตพลังงานได้แก่ ชานอ้อย กากน้ำตาล ดังนั้นในการวิจัยครั้งนี้จึงใช้อ้อยพันธุ์กำแพงแสนที่มีศักยภาพการเจริญเติบโตและมีการสะสมน้ำตาลเร็ว โดยศึกษาลักษณะผลผลิตและองค์ประกอบของผลผลิต วางแผนการทดลองแบบ split plot จำนวน 3 ซ้ำ โดยให้ main plot คือ อายุการเก็บเกี่ยว ได้แก่ 7 เดือน, 8 เดือน และ 9 เดือน sub plot คือ พันธุ์อ้อย จำนวน 5 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ขอนแก่น 3, พันธุ์กำแพงแสน 00-105, พันธุ์กำแพงแสน 01-12, พันธุ์กำแพงแสน 01-29 และ พันธุ์กำแพงแสน 07-30-1 ทำการปลูกอ้อยในช่วงปลายฤดูฝน ได้แก่ อำเภอพบพระ และอำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก และ อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม โดยประเมินลักษณะผลผลิตและองค์ประกอบผลผลิต ได้แก่ น้ำหนักสดรวม, น้ำหนักสดลำ, น้ำหนักสดใบ และ เปอร์เซ็นต์เส้นใยอ้อย จากผลการทดลอง พบว่าศักยภาพของอ้อยในลักษณะชีวมวลเมื่อเก็บเกี่ยวเร็ว (อายุ 7-9 เดือน) แตกต่างกันขึ้นกับพื้นที่ โดยที่แปลงกำแพงแสน และแปลงพบพระ มีค่าเฉลี่ยน้ำหนักสดรวมสูงเท่ากับ 27.39 และ 22.39 ตันต่อไร่ และเมื่อเก็บเกี่ยวเร็วที่อายุ 7 เดือน มีค่าเฉลี่ยน้ำหนักสดรวมเท่ากับ 25.65 และ 16.02 ตันต่อไร่ ตามลำดับ แต่ที่แปลงแม่ระมาดที่มีสภาพขาดน้ำ มีค่าเฉลี่ยน้ำหนักสดรวมที่ต่ำเท่ากับ 10.78 ตันต่อไร่ ทั้งนี้น้ำหนักสดลำและน้ำหนักสดใบ มีแนวโน้มเช่นเดียวกับน้ำหนักสดรวม ที่แปลงทดสอบต่างๆ แต่สัดส่วนน้ำหนักสดลำต่อน้ำหนักสดรวมที่แปลงทดสอบ ให้ผลแตกต่างจากค่าเฉลี่ยของน้ำหนักสดรวม โดยแปลงพบพระ ที่มีค่าเฉลี่ยน้ำหนักสดรวมสูงใกล้เคียงกับแปลงกำแพงแสน แต่มีสัดส่วนน้ำหนักสดลำต่อน้ำหนักสดรวมที่ใกล้เคียงกับแปลงแม่ระมาด เมื่อพิจารณาพันธุ์อ้อย พบว่าพันธุ์กำแพงแสน 01-29 มีศักยภาพของชีวมวลโดยเฉลี่ยเมื่อเก็บเกี่ยวเร็ว ทั้งในน้ำหนักสดรวม น้ำหนักสดลำ และน้ำหนักสดใบ โดยมีน้ำหนักสดรวมที่แปลงกำแพงแสนสูงเท่ากับ 27.66, 35.73 และ 32.86 ตันต่อไร่ ที่อายุเก็บเกี่ยว 7, 8 และ 9 เดือน ตามลำดับ แต่พบว่าพันธุ์กำแพงแสน 01-12 มีศักยภาพสูงโดยเฉพาะการเก็บเกี่ยวที่อายุ 7 เดือน ที่แปลงพบพระและแปลงแม่ระมาด นอกจากนี้น้ำหนักชีวมวล น้ำหนักสดรวม น้ำหนักสดลำ และน้ำหนักสดใบ ที่อายุเก็บเกี่ยวต่างกันของแต่ละพันธุ์ มีความแตกต่างกันในแต่ละแปลงทดสอบ โดยที่แปลงกำแพงแสนไม่มีความแตกต่างทางสถิติ ในขณะที่แปลงพบพระพบความแตกต่างทางสถิติระหว่างการเก็บเกี่ยว 7 เดือนกับอายุ 8 เดือน และ 9 เดือน และแปลงแม่ระมาด พบความแตกต่างทางสถิติที่เกือบทุกอายุเก็บเกี่ยว ในส่วนของเปอร์เซ็นต์เส้นใยไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างค่าเฉลี่ยที่อายุเก็บเกี่ยวต่างกัน และระหว่างอายุเก็บเกี่ยวของอ้อยแต่ละพันธุ์ของแต่ละแปลงทดสอบ แต่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญของค่าเฉลี่ยระหว่างแปลงทดสอบที่ต่างกัน และระหว่างพันธุ์ของแต่ละแปลงทดสอบ