ศักยภาพของพันธุ์อ้อยกำแพงแสนในลักษณะคุณภาพเมื่อเก็บเกี่ยวเร็ว | Potential of Kamphaeng Saen Sugarcane Varieties in Quality Characters with Early Harvest

Main Article Content

อัญญารัตน์ ชะลอม
เรวัต เลิศฤทัยโยธิน
อภิวิชญ์ ทรงกระสินธุ์

Abstract

            ทำการศึกษาศักยภาพของพันธุ์อ้อยกำแพงแสนเพื่อประเมินศักยภาพน้ำอ้อยเมื่อเก็บเกี่ยวเร็วในสภาพการปลูกและการจัดการต่างๆ สำหรับใช้ในการผลิตเอทานอล วางแผนการทดลองแบบ split plot in RCBจำนวน 3 ซ้ำ แต่ละแปลงย่อยมี 3 แถวแต่ละแถวยาว 8 เมตร โดยกำหนดให้ Main plot เป็นระยะการเก็บเกี่ยว ซึ่งมี 3 ระยะ ได้แก่ 7,8 และ 9 เดือน และ Sub plot เป็นพันธุ์อ้อยจำนวน 5 พันธุ์ ได้แก่ อ้อยพันธุ์กำแพงแสน 4 พันธุ์ คือ กำแพงแสน 00-105 กำแพงแสน 01-12 กำแพงแสน 01-29 กำแพงแสน 07-30-1 และพันธุ์ขอนแก่น 3 เป็นพันธุ์เปรียบเทียบ ดำเนินการปลูกอ้อยใน 3 สถานที่ปลูก ได้แก่ แปลงศูนย์วิจัยอ้อยและพัฒนาอ้อยและน้ำตาล อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม แปลงพบพระ อ.พบพระ จ.ตาก และแปลงแม่ระมาด อ.แม่ระมาด จ.ตาก จากผลการทดลองพบว่า ปริมาณน้ำตาลรีดิวซ์แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ปลูก โดยมีค่าต่างกันประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้แต่ละแปลงมีปริมาณน้ำตาลรีดิวซ์สูงสุดที่อายุเก็บเกี่ยวต่างกัน ทั้งนี้ที่แปลงแม่ระมาดที่ประสบสภาพขาดน้ำ มีการเจริญเติบโตต่ำ ไม่พบความแตกต่างของน้ำตาลรีดิวซ์เมื่อเก็บเกี่ยวที่อายุต่างกัน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำตาลรีดิวซ์ มีแนวโน้มสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตของอ้อย ที่เก็บเกี่ยวเร็วช่วง 7-9 เดือน เมื่อพิจารณาซีซีเอส พบว่าช่วงเก็บเกี่ยวเร็ว 7-9 เดือน มีค่าซีซีเอสต่ำมาก โดยเฉพาะแปลงที่มีการเจริญเติบโตค่อนข้างต่ำที่แปลงแม่ระมาดและแปลงพบพระ ในขณะที่แปลงกำแพงแสนมีซีซีเอสสูงกว่าถึงประมาณ 5 เท่า ทั้งนี้ในช่วงการเก็บเกี่ยวเร็ว มีซีซีเอสสูงขึ้นตามอายุเก็บเกี่ยวที่มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในทุกแปลงทดสอบ ทั้งนี้ค่าบริกซ์ ค่าโพล และค่าพริวลิตี้ ให้ผลการทดลองที่สอดคล้องกับซีซีเอส โดยในแปลงอ้อยที่มีการเจริญเติบโตค่อนข้างต่ำ มีค่าแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่แต่ละอายุเก็บเกี่ยวเร็ว ในขณะที่แปลงอ้อยที่มีการเจริญเติบโตดี ไม่พบความแตกต่างทางสถิติระหว่างการเก็บเกี่ยวที่อายุ 8 และ 9 เดือน ซึ่งอาจมีการพัฒนาการสะสมน้ำตาลที่ใกล้จุดสูงสุดมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของพันธุ์ในแต่ละแปลงทดสอบ พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างพันธุ์ในทุกแปลงทดสอบ นอกจากนี้พบว่าพันธุ์ที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดของลักษณะคุณภาพต่างๆ แตกต่างกันในแต่ละแปลงทดสอบ ทั้งนี้พันธุ์ที่มีค่าสูงสุดในลักษณะซีซีเอส ค่าบริกซ์ ค่าโพล และค่าพริวลิตี้ เป็นพันธุ์เดียวกัน ยกเว้นปริมาณน้ำตาลรีดิวซ์ นอกจากนี้พบว่าอายุเก็บเกี่ยวที่พันธุ์อ้อยมีปริมาณน้ำตาลรีดิวซ์สูงสุดของพันธุ์อ้อยส่วนใหญ่ในแต่ละแปลงแตกต่างกัน โดยในแต่ละอายุเก็บเกี่ยวของแต่ละแปลงทดสอบส่วนใหญ่ ไม่พบความแตกต่างทางสถิติระหว่างพันธุ์ ทั้งนี้พันธุ์อ้อยที่มีปริมาณน้ำตาลรีดิวซ์สูงแตกต่างกันในแต่ละแปลงทดสอบ แต่โดยทั่วไปได้แก่ พันธุ์กำแพงแสน  01-12 เมื่อพิจารณาซีซีเอส พบว่าพันธุ์ที่มีซีซีเอสสูงได้แก่ พันธุ์กำแพงแสน 01-12 และขอนแก่น 3 ส่วนพันธุ์กำแพงแสน 00-105 มีค่าซีซีเอสต่ำสุด โดยเฉพาะแปลงอ้อยที่มีการเจริญเติบโตต่ำ ความแตกต่างระหว่างพันธุ์และอายุการเก็บเกี่ยวในค่าบริกซ์ ค่าโพล และค่าพริวลิตี้ มีแนวโน้มใกล้เคียงกับซีซีเอส แต่ทั้งนี้พบอายุเก็บเกี่ยวที่มีความแตกต่างระหว่างพันธุ์อ้อยในแต่ละแปลง ในลักษณะค่าบริกซ์และค่าโพล มากกว่าค่าพริวลิตี้

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

Section
สาขาพืชศาสตร์ (Plant Sciences )