ผลของการได้รับอาหารข้นที่ระดับโปรตีนแตกต่างกันต่อสมรรถภาพการเจริญเติบโตและต้นทุนการผลิตโคนมเพศผู้ตอน | Effects of Concentrate Intake with Different Crude Protein Levels on Growth Performance and Production Cost of Dairy Steers
Main Article Content
Abstract
ในประเทศไทย โคนมเพศผู้ที่เกิดในฟาร์มโคนมส่วนใหญ่ไม่ถูกนำมาใช้ในการผลิตเนื้อ เนื่องจากมีสมรรถภาพการเจริญเติบโตต่ำ การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินสมรรถภาพการเจริญเติบโตและต้นทุนการผลิตของโคนมเพศผู้ที่ได้รับอาหารข้นที่มีปริมาณโปรตีนและปริมาณการให้อาหารที่แตกต่างกัน โดยใช้โคนมเพศผู้ตอนสายเลือดผสมพันธุ์โฮลสไตน์-ฟรีเชี่ยน (ระดับสายเลือดสูงกว่า 75 เปอร์เซ็นต์) ที่มีน้ำหนักเริ่มต้น 227.73±2.95 กิโลกรัม จำนวน 32 ตัว แบ่งโคออกเป็น 4กลุ่มๆ ละ 8 ตัว กลุ่มที่ 1 ได้รับอาหารข้นที่มีโปรตีน 16 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณ 1.3 กิโลกรัมวัตถุแห้งต่อน้ำหนักตัว 100 กิโลกรัม กลุ่มที่ 2 ได้รับอาหารข้นที่มีโปรตีน 16 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณ 1.1 กิโลกรัมวัตถุแห้งต่อน้ำหนักตัว 100 กิโลกรัม กลุ่มที่ 3 ได้รับอาหารข้นที่มีโปรตีน 18 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณ 1.3 กิโลกรัมวัตถุแห้งต่อน้ำหนักตัว 100 กิโลกรัม และกลุ่มที่ 4 ได้รับอาหารข้นที่มีโปรตีน 18 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณ 1.1 กิโลกรัมวัตถุแห้งต่อน้ำหนักตัว 100 กิโลกรัม โคทุกตัวได้รับหญ้าเนเปียร์หมักกินอย่างเต็มที่ ใช้เวลาในเลี้ยงนาน 6 เดือน พบว่าโคกลุ่มที่ 1 และ 3 มีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นและอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยต่อวันสูงกว่าโคกลุ่มที่ 2 และ 4 (P<0.01) และโคกลุ่มที่ 1 และ 3 มีต้นทุนการผลิตและต้นทุนค่าอาหารต่อการเพิ่มน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมต่ำกว่าโคกลุ่มที่ 2 และ 4 จากการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าโคนมเพศผู้ตอนในระยะโครุ่นที่ได้รับอาหารข้นที่มีโปรตีน 16 หรือ 18 เปอร์เซ็นต์ ในปริมาณ 1.3 กิโลกรัมวัตถุแห้งต่อน้ำหนักตัว 100 กิโลกรัม ร่วมกับหญ้าเนเปียร์หมักอย่างเต็มที่ทำให้โคมีสมรรถภาพการเจริญเติบโตที่ดีและต้นทุนการผลิตต่ำ