การตรวจสอบวิธีการให้น้ำหยดที่เหมาะสมต่อผลผลิต องค์ประกอบผลผลิต และลักษณะทางคุณภาพ ในอ้อยตอของอ้อยพันธุ์กำแพงแสน Evaluation of Suitable Drip Irrigation Methods for Cane Yield, Yield Components and Quality Characters of Ratoon Cane of Kamphaeng Saen Sugarcane Varieties
Main Article Content
Abstract
น้ำเป็นปัจจัยการผลิตหลักที่มีผลต่อการเพิ่มผลผลิตอ้อย อ้อยต้องการน้ำเพื่อใช้ในการเจริญเติบโตและสะสมน้ำตาล นอกจากนี้การให้น้ำแก่อ้อยจะทำให้ความสามารถในการไว้ตอดีขึ้น แต่ทั้งนี้การให้น้ำต้องมีความเหมาะสมแก่อ้อยพันธุ์ต่างๆ ดังนั้นจึงได้ตรวจสอบผลผลิต องค์ประกอบผลผลิต และลักษณะคุณภาพของอ้อยพันธุ์กำแพงแสนในอ้อยตอ โดยให้น้ำหยดในอัตราต่างๆ หรือไม่ใช้น้ำหยด วางแผนการทดลองแบบ strip plot มี 3 ซ้ำ ขนาดแปลงย่อยมี 3 แถว ระยะห่างระหว่างแถว 1.5 เมตร ยาว 8 เมตร โดย Vertical factor เป็นวิธีการให้น้ำ 4 วิธี ได้แก่ control (อาศัยน้ำฝน) และวิธีการให้น้ำหยดที่มีค่า IW/CPE เท่ากับ 0.3, 0.5 และ 1.0 และ Horizontal factor เป็นอ้อยพันธุ์กำแพงแสน 4 พันธุ์ ได้แก่ กำแพงแสน 00-58 กำแพงแสน 01-1-12 กำแพงแสน 01-4-29 และกำแพงแสน 07-14-2 จากการทดลองพบว่าพันธุ์อ้อยที่มีศักยภาพสูงในผลผลิตอ้อยตอในสภาพอาศัยน้ำฝน ได้แก่ พันธุ์กำแพงแสน 01-4-29 โดยมีผลผลิตอ้อยตอสูงเท่ากับ 22.58 ตันต่อไร่ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ได้รับน้ำหยด โดยที่การให้น้ำหยดไม่มีผลต่อผลผลิตอ้อยตอของอ้อยแต่ละพันธุ์ แต่เมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยพบว่าการให้น้ำหยดอัตราปานกลาง (IW/CPE 0.5) มีผลผลิตอ้อยตอสูงสุด เมื่อพิจารณาองค์ประกอบผลผลิตพบว่า ลักษณะองค์ประกอบผลผลิตของอ้อยตอที่ตอบสนองต่ออัตราการให้น้ำหยด ได้แก่ จำนวนลำต่อไร่ โดยตอบสนองต่อทุกอัตราการให้น้ำหยด และเส้นผ่านศูนย์กลางลำ ที่ตอบสนองเฉพาะต่ออัตราการให้น้ำหยดที่สูง (IW/CPE 1.0) ส่วนความยาวลำและน้ำหนักต่อลำ ไม่พบการตอบสนองต่อการให้น้ำหยด ในส่วนของพันธุ์อ้อยที่มีศักยภาพสูงในซีซีเอสของอ้อยตอในสภาพอาศัยน้ำฝน ได้แก่ พันธุ์กำแพงแสน 01-1-12 โดยมีซีซีเอสของอ้อยตอเมื่อไม่ได้รับน้ำหยดที่สูงเท่ากับ 13.44 โดยที่การให้น้ำหยดไม่มีผลต่อซีซีเอสของอ้อยตอของพันธุ์อ้อยส่วนใหญ่ ยกเว้นพันธุ์กำแพงแสน 01-1-12 ที่มีซีซีเอสเมื่อได้รับน้ำหยดอัตราสูง มีค่าต่ำกว่าเมื่อได้รับน้ำฝนและได้รับน้ำหยดอัตราต่ำ (IW/CPE 0.3) ทั้งนี้เมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ย พบการให้น้ำหยดอัตราสูง (IW/CPE 1.0) มีซีซีเอสต่ำกว่าที่ได้รับน้ำฝน และที่ได้รับน้ำหยดอัตราต่ำ และปานกลาง นอกจากนี้พบว่าเมื่อได้รับน้ำหยดอัตราสูงขึ้น มีค่าซีซีเอส ค่าโพล ค่าพริวลิตี้ ลดลง ในขณะที่มีเปอร์เซ็นต์การสุกแก่ น้ำตาลรีดิวซ์ และเปอร์เซ็นต์เส้นใย สูงขึ้น เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ของลักษณะในพันธุ์อ้อยแต่ละพันธุ์และวิธีการให้น้ำแต่ละวิธี พบว่าผลผลิตอ้อยตอมีความสัมพันธ์กับจำนวนลำต่อไร่ในอ้อยทุกพันธุ์และทุกวิธีการให้น้ำ แต่มีความสัมพันธ์กับความยาวลำเฉพาะในพันธุ์กำแพงแสน 01-4-29 และการให้น้ำหยดอัตราสูง และพบว่าซีซีเอสของอ้อยตอมีความสัมพันธ์กับค่าโพล ค่าพริวลิตี้ แต่ไม่มีความสัมพันธ์กับเปอร์เซ็นต์การสุกแก่ และเปอร์เซ็นต์เส้นใยในอ้อยทุกพันธุ์ และทุกวิธีการให้น้ำ และมีความสัมพันธ์กับปริมาณน้ำตาลรีดิวซ์ในพันธุ์อ้อยและวิธีการให้น้ำหยดส่วนใหญ่ ยกเว้นพันธุ์กำแพงแสน 07-14-2 และในเฉพาะเมื่อไม่ให้น้ำหยด