การตรวจสอบวิธีการให้น้ำหยดที่เหมาะสมต่อผลผลิต องค์ประกอบผลผลิต และลักษณะทางคุณภาพ ในอ้อยตอของอ้อยพันธุ์กำแพงแสน Evaluation of Suitable Drip Irrigation Methods for Cane Yield, Yield Components and Quality Characters of Ratoon Cane of Kamphaeng Saen Sugarcane Varieties
##plugins.themes.bootstrap3.article.main##
บทคัดย่อ
น้ำเป็นปัจจัยการผลิตหลักที่มีผลต่อการเพิ่มผลผลิตอ้อย อ้อยต้องการน้ำเพื่อใช้ในการเจริญเติบโตและสะสมน้ำตาล นอกจากนี้การให้น้ำแก่อ้อยจะทำให้ความสามารถในการไว้ตอดีขึ้น แต่ทั้งนี้การให้น้ำต้องมีความเหมาะสมแก่อ้อยพันธุ์ต่างๆ ดังนั้นจึงได้ตรวจสอบผลผลิต องค์ประกอบผลผลิต และลักษณะคุณภาพของอ้อยพันธุ์กำแพงแสนในอ้อยตอ โดยให้น้ำหยดในอัตราต่างๆ หรือไม่ใช้น้ำหยด วางแผนการทดลองแบบ strip plot มี 3 ซ้ำ ขนาดแปลงย่อยมี 3 แถว ระยะห่างระหว่างแถว 1.5 เมตร ยาว 8 เมตร โดย Vertical factor เป็นวิธีการให้น้ำ 4 วิธี ได้แก่ control (อาศัยน้ำฝน) และวิธีการให้น้ำหยดที่มีค่า IW/CPE เท่ากับ 0.3, 0.5 และ 1.0 และ Horizontal factor เป็นอ้อยพันธุ์กำแพงแสน 4 พันธุ์ ได้แก่ กำแพงแสน 00-58 กำแพงแสน 01-1-12 กำแพงแสน 01-4-29 และกำแพงแสน 07-14-2 จากการทดลองพบว่าพันธุ์อ้อยที่มีศักยภาพสูงในผลผลิตอ้อยตอในสภาพอาศัยน้ำฝน ได้แก่ พันธุ์กำแพงแสน 01-4-29 โดยมีผลผลิตอ้อยตอสูงเท่ากับ 22.58 ตันต่อไร่ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ได้รับน้ำหยด โดยที่การให้น้ำหยดไม่มีผลต่อผลผลิตอ้อยตอของอ้อยแต่ละพันธุ์ แต่เมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยพบว่าการให้น้ำหยดอัตราปานกลาง (IW/CPE 0.5) มีผลผลิตอ้อยตอสูงสุด เมื่อพิจารณาองค์ประกอบผลผลิตพบว่า ลักษณะองค์ประกอบผลผลิตของอ้อยตอที่ตอบสนองต่ออัตราการให้น้ำหยด ได้แก่ จำนวนลำต่อไร่ โดยตอบสนองต่อทุกอัตราการให้น้ำหยด และเส้นผ่านศูนย์กลางลำ ที่ตอบสนองเฉพาะต่ออัตราการให้น้ำหยดที่สูง (IW/CPE 1.0) ส่วนความยาวลำและน้ำหนักต่อลำ ไม่พบการตอบสนองต่อการให้น้ำหยด ในส่วนของพันธุ์อ้อยที่มีศักยภาพสูงในซีซีเอสของอ้อยตอในสภาพอาศัยน้ำฝน ได้แก่ พันธุ์กำแพงแสน 01-1-12 โดยมีซีซีเอสของอ้อยตอเมื่อไม่ได้รับน้ำหยดที่สูงเท่ากับ 13.44 โดยที่การให้น้ำหยดไม่มีผลต่อซีซีเอสของอ้อยตอของพันธุ์อ้อยส่วนใหญ่ ยกเว้นพันธุ์กำแพงแสน 01-1-12 ที่มีซีซีเอสเมื่อได้รับน้ำหยดอัตราสูง มีค่าต่ำกว่าเมื่อได้รับน้ำฝนและได้รับน้ำหยดอัตราต่ำ (IW/CPE 0.3) ทั้งนี้เมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ย พบการให้น้ำหยดอัตราสูง (IW/CPE 1.0) มีซีซีเอสต่ำกว่าที่ได้รับน้ำฝน และที่ได้รับน้ำหยดอัตราต่ำ และปานกลาง นอกจากนี้พบว่าเมื่อได้รับน้ำหยดอัตราสูงขึ้น มีค่าซีซีเอส ค่าโพล ค่าพริวลิตี้ ลดลง ในขณะที่มีเปอร์เซ็นต์การสุกแก่ น้ำตาลรีดิวซ์ และเปอร์เซ็นต์เส้นใย สูงขึ้น เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ของลักษณะในพันธุ์อ้อยแต่ละพันธุ์และวิธีการให้น้ำแต่ละวิธี พบว่าผลผลิตอ้อยตอมีความสัมพันธ์กับจำนวนลำต่อไร่ในอ้อยทุกพันธุ์และทุกวิธีการให้น้ำ แต่มีความสัมพันธ์กับความยาวลำเฉพาะในพันธุ์กำแพงแสน 01-4-29 และการให้น้ำหยดอัตราสูง และพบว่าซีซีเอสของอ้อยตอมีความสัมพันธ์กับค่าโพล ค่าพริวลิตี้ แต่ไม่มีความสัมพันธ์กับเปอร์เซ็นต์การสุกแก่ และเปอร์เซ็นต์เส้นใยในอ้อยทุกพันธุ์ และทุกวิธีการให้น้ำ และมีความสัมพันธ์กับปริมาณน้ำตาลรีดิวซ์ในพันธุ์อ้อยและวิธีการให้น้ำหยดส่วนใหญ่ ยกเว้นพันธุ์กำแพงแสน 07-14-2 และในเฉพาะเมื่อไม่ให้น้ำหยด