การศึกษาแนวทางการป้องกันน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานี ในพื้นที่ลุ่มน้ำมูลตอนล่าง | The Study of Prevention of Flood in Ubon Ratchathani Province in Lower Mun River Basin

Main Article Content

เมธัส ใจปินตา
จิระวัฒน์ กณะสุต

Abstract

            การศึกษานี้เป็นการพัฒนาแบบจำลองปริมาณน้ำฝน-น้ำท่าและ แบบจำลองสภาพการไหลของน้ำในแม่น้ำมูลและแม่น้ำชีในเขตจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อใช้ในการศึกษาสภาพการเกิดอุทกภัย และเสนอแนะแนวทางการบรรเทาและป้องกันอุทกภัยของจังหวัดอุบลราชธานี ด้วยเหตุการณ์อุทกภัยในปี พ.ศ. 2553 โดยการศึกษานี้ได้ใช้แบบจำลอง MIKE 11 ในการจำลองลักษณะทางอุตุนิยมวิทยาและอุทกวิทยาในพื้นที่ศึกษา


            สำหรับแนวทางในการบรรเทาอุทกภัยของพื้นที่ศึกษาได้พิจารณามาตรการผันน้ำ เลี่ยงเมืองอุบลราชธานีผ่านลำน้ำธรรมชาติ (ห้วยพับ ห้วยยอดและห้วยข้าวสาร) ที่ไหลลงสู่แม่น้ำมูลบริเวณท้ายน้ำของเมืองอุบลราชธานี ตามสถานการณ์น้ำท่วมในปี พ.ศ. 2553 ซึ่งมีปริมาณน้ำหลากสูงสุดที่สถานีวัดน้ำ M.7 (อำเภอเมืองอุบลราชธานี) เท่ากับ 3,112.5 ลบ.ม./วินาที ขณะที่ความจุของแม่น้ำมูลเท่ากับ 2,725 ลบ./วินาที ทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งประมาณ 40 วัน ในการศึกษาได้จำลองคลองผันน้ำแบบคลองขุดและคลองดาด คอนกรีตขนาดความกว้างท้องคลอง 50 เมตร พบว่าคลองผันน้ำทั้งสองรูปแบบจะช่วยผันน้ำหลากเลี่ยงเมืองได้ โดยคลองดินขุดจะสามารถผันน้ำได้ 321 ลบ.ม./วินาที และคลองดาดคอนกรีต จะสามารถผันน้ำได้ 325 ลบ.ม./วินาที โดยคลองทั้งสองประเภทร่นระยะเวลาน้ำล้นตลิ่งลงเหลือ 8 วันได้เหมือนกัน และจากนั้นได้ทำการขยายขนาดความกว้างท้องคลองเป็น 60 เมตร  พบว่าสามารถลดปริมาณน้ำหลากสูงสุดของเมืองอุบลราชธานีไม่ให้ล้นตลิ่งได้ ในการศึกษานี้จึงได้เสนอแนะให้ปรับปรุงลำน้ำธรรมชาติดังกล่าวให้มีขนาดความกว้างท้องคลองอย่างน้อย 60 เมตร เพื่อการลดปริมาณน้ำหลากที่ไหลผ่านเมืองอุบลราชธานีให้ต่ำกว่าระดับตลิ่งแม่น้ำมูล ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบระบายน้ำ ทำให้การเกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ชุมชนเมืองอุบลราชธานีและอำเภอวารินชำราบบรรเทาลง

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

Section
สาขาวิศวกรรมศาสตร์ (Engineering )