การตรวจสอบการให้น้ำหยดที่เหมาะสมต่อผลผลิตของอ้อยพันธุ์กำแพงแสน | Evaluation of Suitable Drip Irrigation for Cane Yield of Kamphaeng Saen Sugarcane Varieties

Main Article Content

สมชาย ชุมโจม
เรวัต เลิศฤทัยโยธิน
อภิวิชญ์ ทรงกระสินธุ์

Abstract

            ได้ทำการทดลองวิธีการให้น้ำหยดเพื่อตรวจสอบวิธีการให้น้ำหยดที่เหมาะสมในอ้อยแต่ละพันธุ์ วางแผนแปลงทดสอบแบบ strip plot มี 3 ซ้ำ โดยปัจจัย main plot เป็นวิธีการให้น้ำ 4 วิธีการ ได้แก่ control (อาศัยน้ำฝน) และวิธีการให้น้ำหยด 3 วิธีที่มีค่า IW/CPE 0.3, 0.5 และ 1.0 และปัจจัย sub plot เป็นอ้อยพันธุ์กำแพงแสน 4 พันธุ์ ได้แก่ กำแพงแสน 00-58 กำแพงแสน 01-1-12 กำแพงแสน 01-4-29 และกำแพงแสน 07-14-2 แต่ละแปลงย่อยมี 3 แถว ยาว 8 เมตร ระยะระหว่างแถว 1.5 เมตร ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาอ้อยและน้ำตาล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม ให้น้ำหยดเมื่ออ้อยอายุ 2 เดือน และเก็บเกี่ยวอ้อยเมื่ออายุ 260 วันหลังปลูก จากผลการทดลองพบว่า อ้อยพันธุ์กำแพงแสน 01-1-12 มีศักยภาพสูงในการให้ผลผลิตอ้อยปลูก ในสภาพอาศัยน้ำฝน โดยมีผลผลิตอ้อยสูงถึง 22.79 ตัน/ไร่ เท่ากับ 98.79% ของค่าเฉลี่ยผลผลิตอ้อยของพันธุ์กำแพงแสน 01-1-12 ทั้งนี้การให้น้ำหยดในอัตรา IW/CPE 0.5 (ให้น้ำ 30 มม. เมื่อค่าการระเหยสะสมเท่ากับ 60 มม.) ให้ผลผลิตสูงสุด แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับที่อาศัยน้ำฝนในอ้อยทุกพันธุ์ โดยที่พันธุ์กำแพงแสน 01-4-29 เมื่อได้รับน้ำหยดอัตรา IW/CPE 0.5 มีผลผลิตอ้อยสูงถึง 27.75 ตัน/ไร่ เมื่อพิจารณาศักยภาพของพันธุ์อ้อยในการให้ผลผลิตเมื่อได้รับน้ำหยดในอัตราต่างกัน พบว่าส่วนใหญ่ของพันธุ์อ้อยกำแพงแสน ได้แก่ กำแพงแสน 00-58 กำแพงแสน 01-1-12 และกำแพงแสน 07-14-2 ให้ผลผลิตอ้อยเมื่อได้รับน้ำหยดในอัตราที่ต่ำ (IW/CPE 0.3) สูงกว่าเมื่อได้รับน้ำหยดในอัตราที่สูง (IW/CPE 1.0) ส่วนพันธุ์กำแพงแสน 01-4-29 มีการตอบสนองต่ออัตราที่สูง ทั้งนี้พันธุ์กำแพงแสน 01-1-12 ยังมีผลผลิตอ้อยที่ได้รับน้ำฝน สูงกว่าที่ได้รับน้ำหยดอัตราสูงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แสดงว่าพันธุ์อ้อยนี้ไม่ต้องการน้ำในปริมาณที่มากเกินไป เมื่อพิจารณาองค์ประกอบผลผลิต พบว่าพันธุ์อ้อย 4 พันธุ์ เมื่อได้รับน้ำหยดมีค่าเฉลี่ยของทุกลักษณะองค์ประกอบผลผลิตสูงกว่าเมื่ออาศัยน้ำฝน แต่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เฉพาะระหว่างที่ได้รับน้ำหยดอัตรา IW/CPE 0.5 กับที่อาศัยน้ำฝนเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบระหว่างที่ได้รับน้ำหยดอัตราสูง (IW/CPE 1.0) กับที่ได้รับน้ำหยดอัตราต่ำ (IW/CPE 0.3) องค์ประกอบผลผลิตที่ตอบสนองต่อปริมาณน้ำหยดอัตราสูง ได้แก่ น้ำหนักต่อลำ ส่วนความยาวลำและเส้นผ่านศูนย์กลางลำมีค่าใกล้เคียงกัน แต่จำนวนลำต่อไร่มีจำนวนมากเมื่อได้รับน้ำหยดในอัตราต่ำ นอกจากนี้พบว่าอ้อยแต่ละพันธุ์มีการตอบสนองต่ออัตราน้ำหยดในแต่ละลักษณะองค์ประกอบผลผลิตที่ต่างกัน โดยกำแพงแสน 01-1-12 มีจำนวนลำต่อไร่ที่ต่ำเมื่อได้รับน้ำหยดอัตราสูง (IW/CPE 1.0) กำแพงแสน 07-14-2 มีความยาวลำที่ต่ำเมื่อไม่ได้รับน้ำหยด (อาศัยน้ำฝน) กำแพงแสน 01-4-29 มีเส้นผ่านศูนย์กลางลำที่สูงเมื่อได้รับน้ำหยดอัตรา IW/CPE 0.5 และกำแพงแสน 00-58 มีน้ำหนักต่อลำที่สูงเมื่อได้รับน้ำหยดอัตราสูง (IW/CPE 0.5 และ 1.0)

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

Section
สาขาพืชศาสตร์ (Plant Sciences )