การเกิดทางเดินอาหารเริ่มแรกในเอ็มบริโอของหอยเชอรี่ | Archenteron Formation in Embryonic Stage of Freshwater Snail Pomacea canaliculata (Lamarck, 1822)

##plugins.themes.bootstrap3.article.main##

วิยะดา สีหบุตร
ประทุมพร มีแสงแก้ว

บทคัดย่อ

           ระยะการพัฒนาตัวอ่อนของหอยเชอรี่แบ่งได้ 5 ระยะ แกสทูลาเป็นระยะสำคัญสำหรับการพัฒนาตัวอ่อนการสร้างทางเดินอาหารเริ่มแรกและเยื่อคัพภะเกิดขึ้นในระยะนี้ เพื่อศึกษาขั้นตอนของระยะแกสทูลา ได้ทำการศึกษาลักษณะ รูปร่าง ของการเกิดทางเดินอาหารเริ่มแรกในช่วงการพัฒนาตัวอ่อนของหอยเชอรี่ ภายใต้กล้องจุลทรรศน์ โดยการนำไข่ของหอยจากระยะการเจริญของตัวอ่อนที่แตกต่างกันมาเก็บรักษาสภาพใน ฟอร์มาลิน 10 % ดึงน้ำออกจากตัวอย่างด้วยเอธิลอัลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้น 50%, 70%, 80%, 90%, 95% และ 100% ตามลำดับ ฝังตัวอย่างในพาราฟินเพื่อตัดเป็นแผ่นบางโดยมีความหนา 6 ไมครอน ย้อมสีตัวอย่างด้วยสีฮีมาทอกซิลินและอีโอซิน นำไปศึกษาภายใต้กล้องจุลทรรศน์และถ่ายภาพ จากภาพที่ได้พบว่าหอยวางไข่ในระยะไซโกต การแบ่งครั้งแรกเกิดขึ้นหลังจากที่มีการวางไข่แล้ว โดยแบ่งจากอนิมัลโพล ไปยังเวเจทัลโพล ทำให้ได้ 2 เซลล์ หลังจากการแบ่งครั้งที่ 3 จะได้กลุ่มของเซลล์ที่มีขนาดไม่เท่ากันเรียกระยะมอรูลา จากระยะมอรูลาตัวอ่อนเจริญไปเป็นระยะบลาสทูลาที่ไม่มีช่องว่างภายในเรียกว่าสเตรีโอบลาสทูลา การเกิดระยะแกสทูลาเริ่มต้นจากวีธีที่เรียกว่าอีพิโบลี โดยมีการเพิ่มจำนวนเซลล์ขนาดเล็กจำนวนมากทางบริเวณอนิมัลโพลและเคลื่อนที่เข้าล้อมเซลล์ขนาดใหญ่ ในที่สุดเซลล์ขนาดเล็กคลุมทั้งตัว เหลือช่องเล็กๆทางเวเจทัลโพล ไว้ 1 ช่อง ช่องเล็กนี้คือบลาสโทพอร์ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นปากในหอยตัวเต็มวัย ต่อจากนั้นเซลล์ขนาดเล็กพัฒนาไปเป็นชั้นเอ็กโทเดิร์มขณะที่เซลล์ขนาดใหญ่พัฒนาไปเป็นชั้นเอนโดเดิร์ม การเกิดทางเดินอาหารเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เอนโดเดิร์มไปเป็นเซลล์ของทางเดินอาหาร เมื่อทางเดินอาหารไปสัมผัสกับผนังของลำตัวหรือเอ็กโทเดิร์ม บริเวณนั้นจะพัฒนาไปเป็นช่องทวาร จากไข่ที่เริ่มวางจนพัฒนาจนได้ทางเดินอาหารเริ่มแรกที่สมบูรณ์ใช้เวลา 18-19 ชม.

##plugins.generic.usageStats.downloads##

##plugins.generic.usageStats.noStats##

##plugins.themes.bootstrap3.article.details##

บท
สาขาพืชศาสตร์ (Plant Sciences )