การเปรียบเทียบคุณภาพอ้อยจากค่าบริกซ์ ซีซีเอส และปริมาณเส้นใย ของอ้อยปลูกและอ้อยตอ ที่ 1ในพันธุ์อ้อยลูกผสมจากต่างคู่ผสม Comparison of Sugarcane Quality from Brix, CCS and Fiber Content of Plant Cane and First Ratoon Cane in Sugarcane Hybrids from Different Crosses
##plugins.themes.bootstrap3.article.main##
บทคัดย่อ
การศึกษาลักษณะคุณภาพของอ้อย ได้แก่ ซีซีเอส บริกซ์ และเปอร์เซ็นต์เส้นใย ในพันธุ์อ้อยลูกผสมจำนวน 120 พันธุ์ จาก 12 คู่ผสมๆละ 10 พันธุ์ ในอ้อยปลูกและอ้อยตอ ที่อายุ 10 และ 11 เดือน ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาอ้อยและน้ำตาล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม วางแผนการทดลองแบบ RCBD มี 3 ซ้ำ แต่ละแปลงย่อยมี 1 แถว ยาว 1.5 เมตร จำนวน 3 กอ เก็บข้อมูลซีซีเอสโดยใช้เครื่อง saccharomate NIR WII วัดค่าบริกซ์โดยใช้ hand refractometer และวัดเปอร์เซ็นต์เส้นใย โดยใช้วิธีของ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (2537) พบว่าความแตกต่างระหว่างพันธุ์อ้อยในแต่ละคู่ผสมในอ้อยปลูกมีมากกว่าในอ้อยตอ เมื่ออายุ 10 เดือน และพบความแตกต่างมากขึ้นเมื่ออ้อยอายุ 11 เดือน โดยจะพบจากค่าซีซีเอสมีความแตกต่างมากกว่าค่าบริกซ์และเปอร์เซ็นต์เส้นใย พันธุ์อ้อยของคู่ผสมส่วนใหญ่ มีเปอร์เซ็นต์เส้นใยในอ้อยปลูกต่ำกว่าในอ้อยตอ แต่มีค่าบริกซ์ในอ้อยปลูกสูงกว่าในอ้อยตอ ทั้งที่อายุ 10 และ 11 เดือน นอกจากนี้พบว่า พันธุ์อ้อยของคู่ผสมส่วนใหญ่ มีซีซีเอสในอ้อยปลูกสูงกว่าในอ้อยตอ เฉพาะเมื่ออ้อยอายุ 11 เดือน ส่วนที่ 10 เดือน มีจำนวนคู่ผสมที่มีซีซีเอสที่สูงในอ้อยปลูกใกล้เคียงกับจำนวนคู่ผสมที่มีซีซีเอสที่สูงในอ้อยตอ เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะคุณภาพที่ศึกษา พบความสัมพันธ์ทางบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001 ระหว่างซีซีเอสกับค่าบริกซ์ ทั้งในอ้อยปลูกและอ้อยตอ และทั้งที่อายุ 10 และ 11 เดือน และพบความสัมพันธ์ทางลบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ระหว่างซีซีเอสกับเปอร์เซ็นต์เส้นใย ทั้งในอ้อยปลูกและอ้อยตอ และทั้งที่อายุ 10 และ 11 เดือน แต่พบความสัมพันธ์ทางบวกระหว่างค่าบริกซ์กับเปอร์เซ็นต์เส้นใย เฉพาะในอ้อยตอ ที่อายุ 10 เดือน