ผลของการจัดการดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมีต่อการเจริญเติบโต และผลผลิต ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พันธุ์สุวรรณ 4452 | Effects of Soil Management with Organic and Chemical Fertilizers on Growth and Yield of Field Corn cv. Suwan 4452

##plugins.themes.bootstrap3.article.main##

บูรนา วงษาราม
อรุณศิริ กำลัง
จันทร์จรัส วีรสาร
รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์

บทคัดย่อ

            งานวิจัยนี้ประกอบด้วย 2 การทดลอง  การทดลองที่ 1 กระทำในห้องปฏิบัติการ เพื่อศึกษาการปลดปล่อยปริมาณธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ของดินหมักร่วมกับมูลไก่อัตรา 0 กก.N/ไร่ (ควบคุม), 3.75 กก.N/ไร่ และ 7.5 กก.N/ไร่ ที่ระยะเวลา 0, 3, 5, 7, 14, 21, 28, และ 35 วัน ทำโดยหมักมูลไก่ (3.75 กก.N/ไร่ และ 7.5 กก.N/ไร่) ร่วมกับดิน 200 กรัมที่ระดับความชื้นความจุสนาม ผลการตรวจสอบ ปริมาณไนโตรเจนเป็นประโยชน์ ฟอสฟอรัสเป็นประโยชน์ และโพแทสเซียมแลกเปลี่ยนได้พบว่า ดินหมักร่วมกับมูลไก่อัตรา 7.5 กก.N/ไร่ มีปริมาณมากกว่าในดินหมักร่วมกับมูลไก่อัตรา 3.75 กก.N/ไร่ และมากกว่าตำรับควบคุม โดยปริมาณฟอสฟอรัสเป็นประโยชน์มีค่ามากที่สุดในวันที่ 0 ของการหมักและโพแทสเซียมแลกเปลี่ยนได้มีค่ามากที่สุดในวันที่ 3 ของการหมัก ในขณะที่ปริมาณไนโตรเจนเป็นประโยชน์จะปลดปล่อยช้าและมีค่ามากที่สุดในวันที่ 35 ของการหมัก  การทดลองที่ 2 กระทำในพื้นที่แปลงทดลองของภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร กำแพงแสน ซึ่งประเมินปริมาณไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมที่ใส่ตามค่าวิเคราะห์ดินและความต้องการของพืชได้เท่ากับ 15 กก.N/ไร่, 0 กก.P2O5 /ไร่ และ 5 กก.K2O/ไร่ เพื่อศึกษาผลของการจัดการดินด้วยวัสดุอินทรีย์ต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พันธุ์สุวรรณ 4452 ตลอดจนศึกษาการเปลี่ยนแปลงสมบัติของดิน วางแผนการทดลองแบบสุ่มโดยสมบูรณ์ภายในกลุ่ม (Randomized Complete Block Design ; RCRD) จำนวน 7 ตำรับการทดลอง กระทำ 3 ซ้ำ ดังนี้ ตำรับที่ 1 ไม่มีการจัดการ+ไม่ปลูกพืช ตำรับที่ 2 ตำรับควบคุม (ไม่ใส่ปุ๋ย) ตำรับที่ 3 ใส่ปุ๋ยเคมีอัตรา 15-0-5 ตำรับที่ 4 ใส่ปุ๋ยเคมีอัตรา 11.25-0-5 +มูลไก่ 3.75 กก.N/ไร่ ตำรับที่ 5 ใส่ปุ๋ยเคมีอัตรา 11.25-0-5 +มูลไก่ 3.75 กก.N/ไร่ +ปุ๋ยพืชสด ตำรับที่ 6 ใส่ปุ๋ยเคมีอัตรา 7.5-0-5 +มูลไก่ 7.5 กก.N/ไร่ และตำรับที่ 7 ใส่ปุ๋ยเคมีอัตรา 7.5-0-5 +มูลไก่ 7.5 กก.N/ไร่+ปุ๋ยพืชสด ผลการทดลองพบว่า ตำรับที่มีการใส่ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียวและกลุ่มตำรับที่มีการใส่ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์มีความสูงของต้นข้าวโพดสูงกว่าตำรับควบคุม ในส่วนของน้ำหนักแห้งของต้นข้าวโพดนั้นพบว่ากลุ่มตำรับที่มีการใส่ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์มีน้ำหนักแห้งมากกว่าตำรับปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียว และมากกว่าตำรับควบคุม  ตำรับการทดลองที่มีผลผลิตมากที่สุดคือตำรับที่มีการใส่ปุ๋ยเคมีอัตรา 11.25-0-5 + มูลไก่ 3.75 กก.N/ไร่ + ปุ๋ยพืชสด (T5) ซึ่งสอดคล้องกับประสิทธิภาพการให้ผลผลิตจากการใส่ปุ๋ยไนโตรเจน  ปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์และโพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ในดิน หลังเก็บเกี่ยวโดยเฉพาะที่ผิวดิน (0-15 ซม.) ของกลุ่มตำรับที่มีการใส่ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์มีค่ามากกว่าตำรับแปลงดินเปล่าซึ่งไม่ปลูกพืชและไม่มีการใส่ปุ๋ย

##plugins.generic.usageStats.downloads##

##plugins.generic.usageStats.noStats##

##plugins.themes.bootstrap3.article.details##

บท
สาขาพืชศาสตร์ (Plant Sciences )