การตรวจสอบความดีเด่นในลักษณะซีซีเอสของอ้อยพันธุ์กำแพงแสนชุดปี 2007 ภายใต้สภาพแวดล้อมต่างๆ โดยการวิเคราะห์ GGE | Evaluation the Oustanding of Kamphaeng Saen Sugarcane Varieties Series 2007 in CCS of Plant Cane under Various Environments by GGE Biplot
##plugins.themes.bootstrap3.article.main##
บทคัดย่อ
จากการที่พันธุ์อ้อยที่มีซีซีเอสสูงเป็นสิ่งที่ต้องการในการผลิตอ้อย และสภาพแวดล้อมของพื้นที่ปลูกอ้อยมีความแตกต่างกัน จึงได้ทำการตรวจสอบซีซีเอสของพันธุ์อ้อยกำแพงแสนชุดปี 2007 โดยการวิเคราะห์ GGE ทั้งนี้ได้ทำการวิเคราะห์โดยการจัดกลุ่มแปลงทดสอบ 15 แปลงตามสภาพแวดล้อมต่างกัน ได้แก่ อายุการเก็บเกี่ยว ภูมิภาค ลักษณะเนื้อดิน และปริมาณน้ำฝนก่อนเก็บเกี่ยว 4 เดือน แต่ละแปลงทดสอบมีพันธุ์อ้อยกำแพงแสน 10 พันธุ์และพันธุ์ขอนแก่น 3 เป็นพันธุ์เปรียบเทียบ วางแผนการทดลองแบบ RCBD มี 3 ซ้ำ แต่ละแปลงย่อยมี 3 แถว ยาว 8 เมตร ผลการทดลองสามารถบ่งบอกปัจจัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการทำให้พันธุ์แต่ละพันธุ์มีซีซีเอสที่ดีเด่น โดยพันธุ์อ้อยที่มีลักษณะดีเด่นทั่วไป ได้แก่ พันธุ์ขอนแก่น 3 และกำแพงแสน 07-29-1 แต่เมื่อทดสอบความดีเด่นและเสถียรภาพที่มีการจัดกลุ่มปัจจัยทางสภาพแวดล้อม พบว่าพันธุ์ขอนแก่น 3 มีความดีเด่นเมื่อเก็บเกี่ยวเร็วหรือมีอายุเก็บเกี่ยวสั้น ในภาคกลางและภาคตะวันตก ในดินที่มี silt เป็นส่วนประกอบหลัก และเมื่อมีปริมาณน้ำฝนก่อนเก็บเกี่ยว 3 เดือน ที่ต่ำ และปานกลาง (น้อยกว่า 50 มม., 50-100 มม. และ 400-600 มม.) ส่วนพันธุ์กำแพงแสน 07-29-1 มีความดีเด่นเมื่อเก็บเกี่ยวช้าหรือมีอายุเก็บเกี่ยวยาว ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในดิน clay หรือ sand เป็นส่วนประกอบหลัก และเมื่อมีปริมาณน้ำฝนก่อนเก็บเกี่ยว 3 เดือน ปานกลาง (100-200 มม.) นอกจากนี้พบพันธุ์อ้อยอื่นที่ปรากฏความดีเด่นในปัจจัยสภาพแวดล้อมที่เฉพาะ ได้แก่ พันธุ์กำแพงแสน 07-10-6 เมื่อมีปริมาณน้ำฝนก่อนเก็บเกี่ยว 3 เดือนที่สูง (มากกว่า 600 มม.) และพันธุ์กำแพงแสน 07-24-2 ในดิน loam เป็นส่วนประกอบหลัก ทั้งนี้ความแตกต่างของชนิดเนื้อดิน มีผลต่อความแตกต่างของผลผลิตของพันธุ์อ้อยในระดับที่แตกต่างกันมากที่สุด โดยความแตกต่างของชนิดเนื้อดินที่มีค่า GE scores สูงสุดและต่ำสุดเท่ากับ 4.06 เท่า ในขณะที่ความแตกต่างของภูมิภาค มีผลน้อยที่สุดเท่ากับ 1.74 เท่า