การเปรียบเทียบศักยภาพของอ้อยพันธุ์กำแพงแสนระหว่างอ้อยปลูกและอ้อยตอ ต่อการให้น้ำหยดในระดับต่างๆ | Comparison of Potential between Plant Cane and Ratoon Cane of Kamphaeng Saen Sugarcane Varieties to Different Levels of Drip Irrigation
##plugins.themes.bootstrap3.article.main##
บทคัดย่อ
ได้ทำการทดลองวิธีการให้น้ำหยดเพื่อตรวจสอบวิธีการให้น้ำหยดที่เหมาะสมในอ้อยแต่ละพันธุ์ วางแผนการทดลองแบบ strip plot มี 3 ซ้ำ โดยปัจจัย Vertical factor เป็นวิธีการให้น้ำ 4 วิธีการ ได้แก่ control (อาศัยน้ำฝน) และวิธีการให้น้ำหยด 3 วิธีที่มีค่า IW/CPE 0.3, 0.5 และ 1.0 และปัจจัย Horizontal factor เป็นอ้อยพันธุ์กำแพงแสน 4 พันธุ์ ได้แก่ กำแพงแสน 00-58 กำแพงแสน 01-1-12 กำแพงแสน 01-4-29 และ กำแพงแสน 07-14-2 แต่ละแปลงย่อยมี 3 แถว ยาว 8 เมตร ระยะห่างระหว่างแถว 1.5 เมตร ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาอ้อยและน้ำตาล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม ทำการทดลองให้น้ำหยดเมื่ออ้อยอายุ 2 เดือน และเก็บเกี่ยวอ้อยเมื่ออายุอ้อย 260 วัน ทำการไว้ตอและทดลองวิธีการให้น้ำหยดหลังไว้ตอ 2 เดือน และเก็บเกี่ยวอ้อยตอเมื่ออายุอ้อย 295 วัน จากผลการทดลองพบว่าผลผลิตอ้อยตอต่ำกว่าอ้อยปลูก โดยสภาพอาศัยน้ำฝนและการให้น้ำหยดที่อัตราสูง (IW/CPE 1.0) มีความแตกต่างน้อยกว่าการให้น้ำหยดในอัตราต่ำและปานกลาง (IW/CPE 0.3 และ 0.5) ทั้งนี้ในสภาพอาศัยน้ำฝน พันธุ์กำแพงแสน 01-1-12 ซึ่งดีเด่นในอ้อยปลูก มีผลผลิตลดลงในอ้อยตอมาก ส่วนพันธุ์กำแพงแสน 01-4-29 มีผลผลิตสูงทั้งในอ้อยปลูกและอ้อยตอ โดยมีผลผลิตอ้อยตอมากกว่าอ้อยปลูก นอกจากนี้พบว่าอ้อยทุกพันธุ์มีการลดลงของผลผลิตมากเมื่อให้น้ำหยดที่อัตราต่ำและปานกลาง ในลักษณะซีซีเอสพบว่าอ้อยตอมีค่าสูงกว่าอ้อยปลูก โดยในสภาพอาศัยน้ำฝนมีค่าแตกต่างมากที่สุด และค่าแตกต่างลดลงตามอัตราการให้น้ำหยดที่สูงขึ้น ทั้งนี้พันธุ์กำแพงแสน 01-1-12 เป็นพันธุ์ที่ดีเด่นในซีซีเอส ทั้งอ้อยปลูกในอ้อยตอและทุกวิธีการให้น้ำ นอกจากนี้พบว่า พันธุ์กำแพงแสน 01-4-29 และกำแพงแสน 00-58 มีซีซีเอสในอ้อยตอสูงกว่าอ้อยปลูก ในสภาพอาศัยน้ำฝนและให้น้ำหยดอัตรา IW/CPE 0.5 นอกจากนี้การให้น้ำหยดที่อัตราสูง มีค่าแตกต่างของซีซีเอสระหว่างอ้อยปลูกและอ้อยตอที่ต่ำในอ้อยทุกพันธุ์ เมื่อพิจารณาลักษณะองค์ประกอบผลผลิตพบว่า การให้น้ำหยดที่อัตราปานกลาง (IW/CPE 0.5) มีเปอร์เซ็นต์เปรียบเทียบของการให้น้ำหยดกับสภาพอาศัยน้ำฝน ในลักษณะองค์ประกอบผลผลิตทุกลักษณะในอ้อยตอต่ำกว่าอ้อยปลูกมากที่สุด รองลงมาได้แก่การให้น้ำหยดอัตราต่ำ (IW/CPE 0.3) ในทุกลักษณะยกเว้นน้ำหนักต่อลำ ส่วนการให้น้ำหยดที่อัตราสูง (IW/CPE 1.0) มีค่าใกล้เคียงกัน ส่วนองค์ประกอบของลักษณะคุณภาพ พบว่า ค่าโพล ค่าพริวลิตี้ และเปอร์เซ็นต์การสุกแก่ ของอ้อยตอมากกว่าอ้อยปลูก โดยค่าโพลและค่าพริวลิตี้มีค่าแตกต่างกันมากเมื่อให้น้ำหยดอัตราสูง (IW/CPE 1.0) และเปอร์เซ็นต์การสุกแก่มีค่าแตกต่างมากเมื่อให้น้ำหยดอัตราปานกลาง (IW/CPE 0.5) ส่วนปริมาณน้ำตาลรีดิวซ์และเปอร์เซ็นต์เส้นใยของอ้อยตอมากกว่าอ้อยปลูก โดยพิจารณาน้ำตาลรีดิวซ์ค่าแตกต่างมากเมื่อให้น้ำหยดอัตราปานกลางและสูง (IW/CPE 0.5 และ 1.0) และเปอร์เซ็นต์เส้นใยมีค่าแตกต่างมากเมื่อให้น้ำหยดอัตราปานกลาง (IW/CPE 0.5)