การประยุกต์ใช้ข้อมูลที่เปิดเผยสู่สาธารณะของกิจการเพื่อการพยากรณ์ ความล้มเหลวทางการเงิน: กรณีศึกษา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย|THE APPLICATION OF PUBLIC INFORMATION DISCLOSURES FOR PREDICTION OF BANKRUPTCY: EVIDENCE FROM THE STOCK EXCHANGE OF THAILAND
Keywords:
การพยากรณ์ความล้มเหลวทางการเงิน, การวิเคราะห์แบบจำแนกประเภท, การวิเคราะห์ความถดถอยโลจิสติคAbstract
วัตถุประสงค์ของการวิจัยครั้งนี้ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลทางการบัญชีและการกำกับดูแลกิจการที่สามารถใช้เป็นปัจจัยในการพยากรณ์ความล้มเหลวทางการเงินใช้สำหรับเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการตัดสินใจของนักลงทุนและผู้มีส่วนได้เสีย และ 2) เพื่อสร้างแบบจำลองการพยากรณ์ความล้มเหลวทางการเงินและทำการทดสอบความแม่นยำของแบบจำลอง โดยการเปรียบเทียบการวิเคราะห์จำแนกประเภทกับการวิเคราะห์ความถดถอยโลจิสติคที่เหมาะสมกับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 114 บริษัท แบ่งเป็นบริษัทประสบความล้มเหลวทางการเงินจำนวน 31 บริษัท และบริษัทที่ไม่ประสบความล้มเหลวทางการเงินจำนวน 83 บริษัท โดยคัดเลือกจากกลุ่มอุตสาหกรรม ประเภทหมวดธุรกิจเดียวกัน อยู่ในช่วงระยะเวลาบัญชีเดียวกัน รวมถึงการจับคู่บริษัทที่มีขนาดของสินทรัพย์ใกล้เคียงกัน จากการวิจัยพบว่า ปัจจัยที่มีความสามารถในการนำมาใช้ในการพยากรณ์ความล้มเหลวทางการเงิน ได้แก่ การถือหุ้นของผู้บริหาร สัดส่วนของคณะกรรมการอิสระ สัดส่วนคณะกรรมการตรวจสอบ ผลขาดทุน 2 ปี ติดต่อกัน และอัตราส่วนกระแสเงินสดต่อสินทรัพย์รวม และแบบจำลองที่ใช้วิธีการวิเคราะห์ความถดถอยโลจิสติคมีความสามารถในการจำแนกประเภทบริษัทที่ประสบความล้มเหลวทางการเงินแม่นยำ (ร้อยละ 78.10) สูงกว่าแบบจำลองที่ใช้วิธีการวิเคราะห์จำแนกประเภทมีความสามารถในการจำแนกประเภทบริษัทที่ประสบความล้มเหลวทางการเงินแม่นยำ (ร้อยละ76.30)