กลยุทธ์การจัดการภูมิปัญญาขนมไทยในบริบทการส่งเสริมและพัฒนาสู่ ชุมชนท่องเที่ยว กรณีศึกษา ชุมชนบ้านท่าคอย จังหวัดสุพรรณบุรี ประเทศไทย|THE LOCAL THAI DESSERT WISDOM MANAGEMENT STRATEGY FOR THAI DESSERTS IN CONTEXT OF PROMOTION AND DEVELOPMENT TOWARDS TOURISM
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการจัดการภูมิปัญญาขนมไทยพื้นบ้าน ของชุมชนบ้านท่าคอย จังหวัดสุพรรณบุรี ในบริบทนโยบาย OTOP นวัตวิถี โดยใช้กรอบคิดวิเคราะห์ “พลวัตรและความยั่งยืน” เก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกและการสังเกตกระบวนการผลิตขนมไทยพื้นบ้านของปราชญ์ชาวบ้าน จำนวน 15 คน ผลการศึกษาพบว่า ภูมิปัญญาขนมไทยพื้นบ้านชุมชนบ้านท่าคอยเป็นรากฐานในการดำเนินชีวิตของชาวบ้านที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และประเพณีท้องถิ่น ที่สั่งสมมาเป็นระยะเวลายาวนาน ส่วนใหญ่เป็นชนิดขนมที่ทำจากวัตถุดิบและวัสดุท้องถิ่น นิยมเตรียมขึ้นเพื่อใช้ประกอบในกิจกรรมทางศาสนางานบุญ ประเพณีชุมชน และฤดูกาลเกี่ยวกับอาชีพ มีกระบวนการสืบทอด อนุรักษ์ อย่างเป็นระบบจากรุ่นสู่รุ่น เมื่อค่านิยมและวัฒนธรรมสมัยใหม่แพร่กระจายสู่ชุมชนตามชนบทจึงกระทบต่อบทบาทและความสำคัญของขนมไทยเปลี่ยนไปเหลือเพียงสถานะ“ผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยว” ความเข้มงวดต่อขนบ-ความเชื่อ ความศรัทธาศาสนา และประเพณีลดลง ภูมิปัญญาขนมไทยพื้นบ้านของชุมชนจึงตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการสูญหาย นโยบาย OTOP นวัตวิถีสามารถช่วยให้ชุมชนได้รื้อฟื้นการทำขนม ปรับแต่งสู่รูปแบบผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวที่คอยสร้างความประทับใจแก่ผู้มาเยือน คณะกรรมการท่องเที่ยวชุมชนได้ตั้งเป้าหมายไว้สองประการ คือการฟื้นฟูภูมิปัญญาขนมไทยพื้นบ้านของชุมชน และการประดิษฐ์สร้างทางภูมิปัญญาเพื่อส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวของชุมชน จึงถือได้ว่าเป็นกลยุทธ์การต่อสู้กับ “พลวัตรและความยั่งยืน” ที่มีภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นประกัน