การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้วิถีปลูกผักสมัยใหม่ผ่านการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายชุมชนบ้านห้วยด้วน ต.รางพิกุล อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม
คำสำคัญ:
กิจกรรมการเรียนรู้, วิถีปลูกผักสมัยใหม่, ภาคีเครือข่าย, Learning Activities, Growing Vegetables in a New Way, Network Partnersบทคัดย่อ
การวิจัยเชิงปฏิบัติการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและสะท้อนผลกิจกรรมการเรียนรู้วิถีปลูกผักสมัยใหม่ผ่านการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายชุมชนบ้านห้วยด้วน ต.รางพิกุล อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม กระบวนการวิจัยมี 3 ระยะ ได้แก่ 1) ระยะเตรียมความพร้อม 2) ระยะออกแบบและดำเนินการจัดกิจกรรม 3) ระยะสรุปและสะท้อนผล ผู้มีส่วนร่วมในการวิจัยประกอบด้วย 3 ภาคส่วน ได้แก่ 1) อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน 3 คน มีบทบาทเป็นนักวิจัย และนิสิตปริญญาโทสาขาวิชาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชน จำนวน 9 คน เป็นผู้ร่วมปฏิบัติการ 2) ภาคีเครือข่าย จำนวน 4 องค์กร มีบทบาทเป็นผู้ร่วมปฏิบัติการ และ 3) ผู้นำชุมชนและเกษตรกร จำนวน 31 คน มีบทบาทเป็นผู้เข้าร่วมกิจกรรมและกลุ่มเป้าหมาย การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้แบบวัดทักษะและแบบวัดความพึงพอใจ หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรม ดำเนินการสรุปและสะท้อนผลโดยการสัมภาษณ์และสนทนากลุ่ม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัย พบว่า ภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้วิถีปลูกผักสมัยใหม่ภายใต้หลักสูตรปลูกผักไฮโดรโปนิกส์อย่างง่ายในครัวเรือน จำนวน 5 ฐานการเรียนรู้ ประกอบด้วย 1) การเพาะเมล็ด 2) การผสมปุ๋ยน้ำ 3) การย้ายปลูก 4) การดูแลรักษา และ 5) การแปรรูป กลุ่มผู้เข้าร่วมมีทักษะการปฏิบัติโดยรวมอยู่ในระดับปานกลางและความพึงพอใจในระดับมากที่สุด ส่วนการติดตามผลงานหลังการปฏิบัติอยู่ในระดับดีมาก ผลการสะท้อนคิด พบว่า เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันและช่วยการลดรายจ่ายในครัวเรือน ส่วนข้อเสนอแนะควรนำไปขยายผลสู่ชุมชนอื่นๆ ภายในพื้นที่บริการวิชาการของมหาวิทยาลัย